หลายคนคงเคยได้ยินว่า “คนจำนวนมากไม่ได้ยื่นใบลาออกเพื่อหนีจากบริษัท แต่เพื่อหนีให้ไกลจากหัวหน้า ส่วนคนเป็นหัวหน้าก็มีไม่น้อยที่ทุกข์ใจกับความไม่เอาไหนของลูกน้องตัวเอง” แต่ก็ไม่รู้ต้องทำอย่างไร… โธมัส เอริคสัน นักเขียน Bestseller เจ้าของผลงาน “วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า” ที่แบ่งคนออกเป็น 4 สีตามระบบ DISC จะชวนเรากลับมามองพฤติกรรมตามธรรมชาติที่แตกต่างของคนแต่ละแบบ แน่นอนว่าหัวหน้าที่เลวร้ายจริง ๆ มีอยู่แน่ ๆ และลูกน้องที่อู้ไม่ยอมทำงานก็มีอยู่จริง แล้วต้องทำอย่างไร เมื่อเจอหัวหน้าที่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ หรือลูกน้องที่ทำงานเสร็จยากเสร็จเย็น เราไปหาคำตอบให้กับคำถามคลาสสิคนี้พร้อมกัน !
เมื่อลูกน้องต้องเจอหัวหน้าที่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ !
“หัวหน้า” คือตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุด พวกเขาควรช่วยชี้แนะให้ลูกน้องผ่านพ้นช่วงเวลาที่ประสบปัญหา แต่หัวหน้ามักไม่รู้ว่าลูกน้องคิดอะไรอยู่ และสิ่งที่เกิดขึ้นข้างในไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเสมอไป แต่เราจำเป็นต้องหาทางจัดการคำถามที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้ นั่นคือ “ลูกน้องควรพึ่งพาหัวหน้าในการก้าวไปสู่ความสำเร็จหรือไม่” คำตอบคือ ไม่จำเป็น บางครั้งการรอหัวหน้าช่วยไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะลูกน้องจะถูกบีบให้รับมือกับสถานการณ์นั้นด้วยตัวเอง
มีวิธีหนึ่งที่ง่ายเหลือเชื่อถ้าอยากให้หัวหน้าช่วย นั่นคือ ไปหาหัวหน้าของคุณและบอกว่า “ผมว่าอย่างนี้ไม่ไหวหรอกครับ ผมขอคุยเรื่องนี้หน่อยได้ไหม” วินาทีที่ลูกน้องทำเช่นนั้น มันคือกำลังแสดงให้เห็นว่าลูกน้องมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ และพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความรับผิดชอบด้วยการรู้จักพูดขอความช่วยเหลือ
ถ้าลูกน้องมีหัวหน้าดี พวกเขาจะเข้ามาช่วยพร้อมกับเสนอทางเลือกต่าง ๆ เพราะสังเกตเห็นว่าคุณกำลังดิ้นรนกับอะไรบางอย่าง และพวกเขามาอยู่ตรงนี้เพื่อสนับสนุนให้ลูกน้องเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าหัวหน้าไม่เสนอความช่วยเหลือในแนวทางที่ลูกน้องต้องการ นั่นไม่ได้หมายความว่าหัวหน้างี่เง่า บางทีพวกเขาอาจแค่กำลังมองไม่ออกว่าลูกน้องกำลังมีปัญหาอะไรกันแน่ ลองให้โอกาสหัวหน้าแล้วขอเวลาพูดคุยด้วย นั่งลงอธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แล้วก็บอกว่า “ฉันต้องการความช่วยเหลือจากคุณ”
เมื่อลูกน้องทำเช่นนี้ก็คือการเดินไปสู่การแก้ปัญหา หากลูกน้องได้หัวหน้าและผู้นำที่ดี ปัญหาคือหัวหน้าจำนวนมากไม่ฟัง พวกเขาจะคิดว่า “เด็กไม่เอาถ่านที่คิดเองไม่เป็นอีกคนละสินะ” การที่หัวหน้าประกาศอย่างเต็มปากว่า แม้พวกเขาเชื่อว่าคนเราต้องไม่ถูกมองข้ามและต้องได้รับการสนับสนุน แต่ในทางปฏิบัติหัวหน้ามักไม่ทำอย่างที่พูด เพราะพวกเขาหมดพลังหรือไม่ให้เวลากับเรื่องนี้ หรือตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะช่วยอย่างไร พวกเขาจึงกลายเป็น “หัวหน้าที่ไม่ต้องมีก็ได้”
เมื่อหัวหน้าต้องเจอลูกน้องทำงานเสร็จยากเสร็จเย็น !
ความท้าทายเดียวที่หัวหน้าจำนวนมากเผชิญอยู่ นั่นคือ ลูกน้องทำงานได้น้อยเหลือเกินในแต่ละวัน รายงานฉบับหนึ่งของสหรัฐอเมริการะบุว่า พนักงานฝ่ายขายโดยเฉลี่ยทำงานการตลาด (พูดคุยกับลูกค้า ต้อนรับลูกค้า เขียนใบเสนอราคา ติดตามการเสนอราคา) ประมาณวันละ 90 นาที แล้วคนเหล่านี้ทำอะไรในเวลาที่เหลือ… บางคนใช้เวลาสองสามชั่วโมงกว่าจะเริ่มลงมือทำงาน บางคนง่วนอยู่กับงานด้านธุรการ บางคนอธิบายไม่ได้ด้วยซํ้าว่าเอาเวลางานที่เหลือทั้งหมดไปทำอะไร
วิธีที่หัวหน้าควรใช้จัดการลูกน้องทำงานเสร็จยากเสร็จเย็นคือ “การแถลงการณ์พันธกิจของหัวหน้า” ถ้าคุณไม่อยากถูกมองว่าเป็นหัวหน้าที่แย่หรือถึงขั้นไม่ต้องมีก็ได้ หัวหน้าจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ครอบคลุม ทันทีที่หัวหน้าเริ่มจริงจังกับพันธกิจที่แถลง ลูกน้องสันหลังยาวในที่ทำงานจะน้อยลง
“การเป็นที่เคารพ” ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่หัวหน้าไม่ควรมองข้าม การเป็นที่เคารพหมายถึงการเคารพความสามารถของตัวเองจนเป็นที่กล่าวขานในฐานะผู้นำที่เก่งและยุติธรรม ได้รับการชื่นชมในสิ่งที่ทำ และลูกน้องศรัทธา เช่น หัวหน้าที่ตัดสินใจเรื่องยาก ๆ และยืนหยัดกับการตัดสินใจเหล่านั้น
การเป็นที่เคารพของหัวหน้า เป็นการตระหนักว่าบางครั้งหัวหน้าต้องตัดสินใจในสิ่งที่ลูกน้องไม่ชอบ บางครั้งหัวหน้าต้องมีความกล้าที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ทำและเผชิญหน้ากับสมาชิกบางคนของทีม เช่น ลูกน้องที่มาทำงานสาย พักกินข้าวเที่ยงนาน และเลิกงานเร็ว การได้รับความเคารพหมายถึง หัวหน้าต้องพร้อมที่จะเรียกร้องจากคนที่ทำงานด้อยประสิทธิภาพให้มากขึ้น และพร้อมจะลงมือทำอะไรเองหากจำเป็น
การอยากเป็นผู้นำที่ลูกน้องชื่นชอบเป็นเส้นทางที่อันตราย การพยายามเป็นที่เคารพในเชิงบวก เป็นหนทางที่ปลอดภัยกว่า สิ่งที่น่าแปลกเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ถ้าหัวหน้ากลายเป็นที่เคารพก็จะกลายเป็นที่ชื่นชอบด้วย ซึ่งประเด็นนี้คนเป็นหัวหน้าอาจคิดไม่ถึง
ที่สำคัญการปล่อยให้ลูกน้องทุกคนทำตัวสบาย ๆ ในช่วงแรก แล้วค่อยมากดดันในช่วงหลังมักไม่ได้ผลดีเท่าไร คนจะไม่พอใจ มันเป็นผลทางจิตวิทยา ดังนั้น การจัดการลูกน้องที่ขี้เกียจ การตามงานอย่างสมํ่าเสมอยังมีความจำเป็น แม้ว่าหัวหน้าต้องพยายามอย่างมากอยู่สักพัก แต่มันจะผ่านไปได้ แล้วลูกน้องจะทำงานเสร็จตามกำหนดเวลาอย่างสม่ำเสมอ
บทความโดย howto
___________________
พบกับ “วิธีอยู่ร่วมกับหัวหน้าทุกสไตล์ (และเข้าได้กับลูกน้องทุกแบบ)”
เขียนโดย โธมัส เอริคสัน
สำนักพิมพ์ howto
สั่งซื้อได้ที่ amarinbooks.com