พ่อแม่นอกจากจะต้องเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งคือการเลี้ยงลูกให้ไกลโรค เพราะปัจจุบันโรคต่างๆ มีการพัฒนาความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยพื้นฐานที่พ่อแม่หลายคนมองข้าม ซึ่งบางครั้งกลับทำให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้นเพราะปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่ทำการรักษาด้วยแพทย์ให้ถูกต้อง
มีไข้สูงขนาดไหนถึงต้องไปโรงพยาบาล?
อาการไข้สูงในเด็กมี 3 ลักษณะที่พ่อแม่ควรสังเกตและพบแพทย์ทันที อย่างแรกคือไข้ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 3 เดือน ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที ยำว่าทันที! ไม่ต้องรอ อย่างที่สองคือไข้สูงลอยโดยไม่มีอาการอื่นซึ่งพบบ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนต้น แต่มีไม่น้อยที่อาจจะเป็นอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดและการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอันตรายมากโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน อย่างที่สามคือไข้สูงติดต่อกันนานเกิน 3 วัน และไม่มีสัญญาณว่าดีขึ้น
เมื่อเด็กมาพบหมอที่โรงพยาบาล แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับไข้ เช่น เริ่มเป็นไข้ตั้งแต่เมื่อไร ลักษณะของไข้เป็นอย่างไร มีอาการร่วมอะไรบ้าง หากหมอถามแบบนี้ สิ่งที่หมอต้องการคือ ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเป็นไข้ เพราะระยะเวลาของไข้มีประโยชน์มากในการจำแนกระยะของการติดเชื้อ รวมถึงมีประโยชน์ต่อการพิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วย หากพ่อแม่วัดไข้และจดอุณหภูมิไว้ด้วยจะดีที่สุด
เจ็บคอต้องกินยาแก้อักเสบหรือไม่?
ในความหมายของพ่อคุณแม่ก็คือยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่มีคำว่า “ยาแก้อักเสบ” ในสารบบของการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส ไข้หวัดโดยทั่วไปส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและหายเองได้ เพียงแต่ต้องให้เวลาร่างกายควบคุมการติดเชื้อไวรัส หากรับประทานยาปฏิชีวนะแบบพร่ำเพรื่อไม่จำเป็น เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องรับประทานกลับรับประทานไม่ครบคอร์ส (ปกติต้องรับประทานติดต่อกัน 7-10 วัน) ก็จะเพิ่มโอกาสในการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียได้
ความแตกต่างของคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรียและไข้หวัดทั่วไปอาจไม่สามารถแยกได้ด้วยอาการ อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลพบว่า เด็กเพียง 3 ใน 10 คน ที่มีอาการเจ็บคอเท่านั้น ที่คออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่มีผู้ใหญ่เพียง 1 ใน 10 คน เท่านั้น ที่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ดังนั้น เวลาลูกมีอาการเจ็บคอ หากไปตรวจแล้วหมอไม่ได้สั่งยาปฏิชีวนะให้ ก็สบายใจได้ว่าลูกเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา
ทำไมเด็กยิ่งเล็ก RSV ยิ่งอาการเยอะ?
เพราะเด็กยิ่งเล็ก ยิ่งมีโอกาสที่การติดเชื้อจะลุกลามลงปอด ยิ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงโดยเฉพาะเมื่อมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมฝอยอักเสบ
RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ติดต่อกันง่ายมากในเด็กเล็ก ทำให้มีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป แต่มักรุนแรงกว่า ป่วยนานกว่า เป็นไข้นานกว่า บางคนอาจป่วยนานกว่า 7-10 วัน เด็กจะมีเสมหะเยอะ ไอเยอะ เชื้อลุกลามลงปอด ทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบหรือปอดบวมได้ RSV ติดต่อแบบเดียวกับเชื้อไวรัสหวัดทั่วไป โดยแพร่กระจายแบบละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย การไอจาม และการสัมผัส โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วัน การแพร่กระจายจะเกิดขึ้นเร็วมากในช่วง 2-3 วันแรกของการติดเชื้อ และต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ ถ้าเด็กเป็นแล้วให้ทำใจเลยว่า เป็นนานแน่นอน มีเพียงการรักษาแบบประคับประคองและรอให้ร่างกายของลูกจัดการกับเชื้อไวรัสเอง หน้าที่ของหมอคือให้ยาลดไข้ ยาขับเสมหะ ดูดเสมหะ พ่นยาเมื่อจำเป็น กินไม่ได้ก็อาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
ทำไมลูกกินนมแล้วท้องเสีย?
ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่ได้ หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่าย่อยนมไม่ได้ เป็นภาวะที่พบบ่อยในคนเอเชีย หลังอายุ 2-12 ปี ร่างกายของเด็กหลายคนเริ่มสร้างน้ำย่อยชนิดนี้ลดลง ในขณะที่เด็กบางคนก็ยังสร้างได้ปกติ ดังนั้นหลายคนพอโตเป็นวัยรุ่นจึงเริ่มดื่มนมแล้วไม่สบายท้อง สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้คือแทบไม่พบภาวะนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ดังนั้นเด็กกินนมแม่จะท้องอืด ถ่ายเหลว หรือร้องโคลิก ก็ไม่ควรคิดถึงภาวะนี้
แต่ในเด็กเล็ก เราสามารถพบภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสภายหลังการติดเชื้อโรตาไวรัสหรือโนโรไวรัวได้ เพราะการติดเชื้อของลำไส้จะทำให้เกิดการอักเสบจนสร้างเอนไซม์แล็กเทสไม่ได้ เด็กจึงถ่ายเหลวนานกว่าปกติ แม้การติดเชื้อจะดีขึ้นแล้วก็ตาม รวมถึงการมีก้นแดง อุจจาระมีกลิ่นเปรี้ยว แต่ก็เป็นชั่วคราวเท่านั้น
หากต้องการให้อาการถ่ายเหลวดีขึ้นสามารถทำได้ 2 แบบ คือ ลดการกินนมส่วนหน้าที่มีปริมาณน้ำตาลแล็กโทสสูง และกินนมส่วนหลังมากขึ้น หรือเปลี่ยนชนิดเป็นนมปราศจากน้ำตาลแล็กโทส
ลูกเดินเขย่งเท้า ผิดปกติหรือไม่?
การเดินเขย่งหรือการเดินลงปลายเท้า จะผิดปกติหรือผิดปกติต้องดูพัฒนาการและการตรวจร่างกายของเด็กแต่ละคน เด็กปกติก็เดินเขย่งได้โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกที่เริ่มเดิน จึงไม่ต้องกังวล สำหรับเด็กที่ยังเดินเขย่งหลังเริ่มเดินคล่องแล้วเกิน 6 เดือนควรได้รับการตรวจประเมิน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุอื่นทางร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อน่องตึงผิดปกติ เอ็นร้อยหวายสั้นหรือตึง หรือโรคที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
ดังนั้น ขอย้ำว่า “ต้องตรวจ”
ทำไมเด็กบางคนขาลาย คันขาตลอดเวลา?
หลายคนเรียกอาการลักษณะนี้ว่า “เด็กน้ำเหลืองไม่ดี” แต่ความจริงแล้วไม่มีโรคน้ำเหลืองไม่ดีในสารบบการแพทย์ มีเพียงเด็กที่สุขภาพผิวไม่ดี ผิวแห้ง ไวต่อการระคายเคือง และปล่อยให้โดนยุงหรือมดกัดบ่อยๆ พอโดนกัดก็เกาจนมีแผล พอมีแผลก็ดูแลผิวไม่ดีจนติดเชื้อและน้ำเหลืองซึม ทางการแพทย์เรียกอาการแบบนี้ว่า “แผลอักเสบติดเชื้อ”
การป้องกันคือหัวใจสำคัญของการดูแล โดยดูแลผิวไม่ให้แห้งและระคายเคือง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใส่เสื้อผ้าแขนขายาว ไม่ปล่อยเด็กๆ เล่นในที่มืด ทายากันยุงอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะอีกหลายโรคด้วย
สำหรับการรักษาจะเน้นแผลติดเชื้อเป็นอันดับแรก ล้างแผล ฟอกสบู่ยา ทายาฆ่าเชื้อ หรือรับประทานยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการดูแลผิวหนังอักเสบแห้งด้วยครีมมอยส์เจอไรเซอร์รักษาผิวแห้ง หากอักเสบร่วมด้วยก็อาจจะต้องทาครีมที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ จึงจะช่วยลดอาการคันและอักเสบได้เร็วขึ้น แต่หากคันมากให้กินยาลดคันด้วย ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่ให้ยุงกัด
บทความโดย Amarin Kids
เรียนรู้ข้อมูลการดูแลลูกให้แข็งแรงกับหนังสือ
เลี้ยงลูกให้ไกลโรค
โดย ผศ. นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ
จากเพจ “เลี้ยงลูกตามใจหมอ”
ได้ที่นี่