ชวน “คุณตาหมอ” มองตัวละครเด็กๆ ในนิทานของชินสุเกะ โยชิทาเกะ

Amarin Kids ชวนนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ “คุณตาหมอ” ของคุณพ่อคุณแม่ แชร์มุมมองต่อเด็กๆ แก๊งฉลาดคิดรอบด้าน ของคุณชินสุเกะ โยชิทาเกะ ว่าในความแก่นกล้าของเด็กแก๊งนี้ มีหมัดเด็ดและหัวใจสำคัญอะไรซ่อนอยู่บ้าง รวมถึงเรื่องราวของ “คำตาม” ท้ายเล่ม ในฐานะที่คุณหมอเขียนให้กับนิทานชุดนี้เป็นครั้งแรกด้วยค่ะ

(เนื่องจากช่วงเวลาสัมภาษณ์นั้นคุณหมออยู่ที่ต่างประเทศ บทสัมภาษณ์นี้จึงเป็นการสัมภาษณ์รูปแบบถามตอบผ่านอีเมลค่ะ)

Amarin Kids: ก่อนหน้าที่ Amarin Kids จะจัดพิมพ์นิทานชุดนี้และเรียนเชิญคุณหมอร่วมเขียนคำตาม คุณหมอรู้จักคุณชินสุเกะ โยชิทาเกะหรือเคยอ่านนิทานชุด Thinking Skills มาก่อนไหมคะ แล้วสิ่งใดคือความประทับใจแรกของคุณหมอที่มีต่อพวกเด็กๆ ของเขา (ตอบในฐานะผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ใหญ่ก็ได้ค่ะ)

ไม่เคยรู้จักครับ เมื่ออ่านแล้วสิ่งที่ได้ทันทีคือ ‘Here & Now’ แปลว่า ‘ที่นี่และเดี๋ยวนี้’ อธิบายดังนี้ครับ คุณชินสุเกะเขียนเรื่องเกือบทั้งหมดจากมุมมองของเด็กที่จะสนใจเรื่องรอบตัวในระยะใกล้และเป็นปัจจุบันขณะ ไม่ไกลกว่านั้นและไม่ยาวไปกว่านั้น แม้แต่เรื่อง “ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนะ” ก็เป็นแบบนี้

Amarin Kids: หากมองว่านิทานที่ตัวละครเอกเป็นเด็กย่อมถ่ายทอดความเป็นเด็กในรูปแบบต่างๆ คุณหมอเห็นว่าสิ่งใดคือจุดร่วมและความโดดเด่นของบรรดา “เด็กๆ” ในนิทานจากชินสุเกะ โยชิทาเกะคะ

นอกเหนือจากเรื่อง ‘ที่นี่และเดี๋ยวนี้’ อีกเรื่องหนึ่งคือคิดอะไรก็พูด คิดอะไรก็ทำ ไม่ต้องกลั่นกรองมากมายหรือคิดแล้วคิดอีกเหมือนผู้ใหญ่ ข้อนี้จะว่าไปน่าจะถูกใจพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ เพราะพวกเราคิดก่อนพูดมากจนน่าอึดอัดในหลายๆ ครั้ง พวกเราเก็บกดความคิดและการกระทำมากมายในสถานะผู้ใหญ่ พูดง่ายๆ ว่าเราต้องรักษาหน้า รักษาภาพ แต่เด็กๆของชินสุเกะไม่ต้อง ลองอ่าน “ผมมีเหตุผลของผมนะ” ดู

Amarin Kids: แล้วคุณหมอเห็นว่าสิ่งใดคือหัวใจสำคัญของความเป็นเด็ก ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครเด็กของชินสุเกะ โยชิทาเกะคะ

‘ที่นี่และเดี๋ยวนี้’ ‘คิดอะไรก็พูด คิดอะไรก็ทำ’ อีกข้อคือ ‘ความคิดเชิงรูปธรรม’

จะเห็นว่าแม้เด็กๆ ของชินสุเกะมีความคิดแปลกใหม่มากเท่าใดก็ตาม แต่เกือบทั้งหมดเป็นความคิดที่ตรงไปตรงมา วางอยู่บนฐานของการมองโลกและคิดเชิงรูปธรรม ไม่มีสัญลักษณ์อะไรซับซ้อน ลองอ่าน “นวดแล้วยืด”, “หนังยางแสนรักของฉัน” และ “ความลับของทรงผม” ดูครับ รูปธรรมทั้งนั้น

Amarin Kids: นิทานชุดนี้เป็นครั้งแรกที่คุณหมอเขียน “คำตาม” ให้นิทาน ซึ่งหลายเล่มในชุดนี้ คำตามของคุณหมอทั้งเปิดมุมมองใหม่และกล่าวถึงความเชื่อมโยงของนิทานกับผู้ใหญ่โดยตรงจนเราเองก็คาดไม่ถึงค่ะ จึงอยากทราบว่าคุณหมอมองความสำคัญของ “คำตาม” โดยเฉพาะสำหรับนิทานชุดนี้ไว้อย่างไรคะ และจริง ๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถซื้อนิทานชุดนี้ให้ลูกโดยไม่ต้องอ่านคำตามได้หรือไม่

ไม่อ่านคำตามได้อย่างแน่นอนครับ อันที่จริงหนังสือดีเลิศจนไม่จำเป็นต้องมีคำตาม บางท่านอาจจะเกรงว่าถ้าไม่มีคำตามแล้วจะกลายเป็นหนังสือขำขันธรรมดาไป ซึ่งไม่จริงครับ เพียงอ่านแล้วขำท่านเองก็ ‘ได้’ ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว เด็กๆของเราก็เช่นกัน เพียงเห็นเด็ก ๆ ของชินสุเกะทำอะไรแบบที่เห็นก็ได้ไปแล้วเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายอะไร

หนังสือหลายเล่ม ผมคิดว่าเขียนคำตามน่าจะดีกว่าเขียนคำนิยม เวลาเขียนคำนิยมจะต้องระวังสปอยล์เสมอ ทำได้อย่างมากก็แค่แนะนำหรือเชิญชวน มากกว่านี้ก็ยั่วเย้าหรือท้าทายให้อ่าน แต่คำตามชื่อบอกอยู่แล้วว่าให้อ่านตามทีหลัง อย่ามาอ่านก่อน ก็จะตีความ (Interprete) เนื้อเรื่องได้สะดวกใจมากกว่าครับ นิทานก่อนนอนส่วนมากจะสั้น ไม่ต้องยั่วเย้ามากก็อ่าน เขียนคำตามจึงน่าจะดีกว่า

Amarin Kids: ในฐานะผู้เขียนคำตาม คาดว่าคุณหมอคงต้องอ่านชุด Thinking Skills ด้วยสายตาของผู้เชี่ยวชาญเป็นตั้งต้น จึงอยากทราบว่าในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง คุณหมอเห็นว่าความเป็นเด็กในชุด Thinking Skills จะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่รวมถึงผู้ใหญ่คนอื่นๆ อย่างไรบ้างคะ

เพราะมีหมวกวิชาการครอบหัว ผมจึงไม่สามารถปลดปล่อยตนเองได้สุด ๆ เวลาอ่านเรื่องราวของเด็กๆของชินสุเกะ อ่านไปก็มีวิชาการเกาะหลังนัวเนียเหมือนเด็กๆ ของชินสุเกะถูกอะไรเกาะอยู่เรื่อย ๆ เขียนคำตามเพื่อดึงส่วนวิชาการออกมาสำหรับคนที่ชอบครับ ว่าในแต่ละเรื่องมีประเด็นพัฒนาการอะไรที่ชวนให้คิดถึงได้บ้าง

Amarin Kids: นิทานของชินสุเกะ โยชิทาเกะ มีความเป็นญี่ปุ่นสูงมากทั้งรูปแบบชีวิตและความลุ่มลึกเชิงความคิด คุณหมอคิดว่าความเป็นเด็กในงานของชินสุเกะนั้นเชื่อมโยงหรือซ่อมแซมคนไทยได้อย่างไรคะ

ไม่มีปัญหานะครับ ความเป็นญี่ปุ่นที่เห็นมีไม่มากเลย แล้วที่จริงวัฒนธรรมไทยก็มิใช่อุปสรรคในการอ่านแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม ความคิดของเด็กๆ ของชินสุเกะน่าจะเตะหน้าแข็งผู้ใหญ่บ้านเราได้เรื่อยๆ ดีออก

Amarin Kids: หากขอให้คุณหมอแนะนำนิทานจากชุดนี้ให้ผู้ใหญ่อ่านหนึ่งเล่ม คุณหมออยากแนะนำเล่มไหนคะ เพราะอะไร

แหะๆ ทุกเล่มได้ไหมครับ อ่านให้หมดเลย ให้รู้ไปว่าราคาหนังสือดีมีคุณภาพในโครงสร้างหนังสือแห่งชาติของบ้านเราเราต้องหมดกี่บาทถึงจะได้อ่านทั้งหมดทุกเล่ม ไม่ยุติธรรมกับนักอ่านเลยนะครับ เรามาช่วยกันเรียกร้องให้รัฐจัดการโครงสร้างหนังสือเสียที ให้สำนักพิมพ์ได้กำไรจากการขายปริมาณสูงยิ่งขึ้น นักเขียน นักวาด นักแปลมีงานทำไม่ขาดมือ มีหนังสือทุกเล่มในโรงเรียนทุกแห่งและห้องสมุดทุกตำบล แล้วถ้าพ่อแม่อยากซื้อก็ซื้อได้ โดยไม่ลำบากจนเกินไป

พูดแบบนี้เพื่อกดดันรัฐนะครับ มิใช่เพื่อให้สำนักพิมพ์ลดราคา รู้อยู่แล้วว่ากระบวนการผลิตมีราคามาก

Amarin Kids: สุดท้ายนี้ ขอให้คุณหมอช่วยเลือกตัวละครเด็กจากชุด Thinking Skills ที่คุณหมออ่านแล้วนึกถึงตัวเองหน่อยค่ะ

จากเรื่อง “หนูมีเรื่องไม่พอใจ”

จำได้ว่าผมเบื่อชีวิตวัยเด็กมากเหตุเพราะรอบกายเต็มไปด้วยข้อห้าม ทั้งในบ้านและที่โรงเรียน บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ ใหญ่มากทั้งสองตระกูล โรงเรียนประถมเป็นคาธอลิก มีโครงสร้างบางประการตั้งอยู่ พอเรียนมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยก็เข้าโรงเรียนและสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศติดต่อกันเสียอีก เรียกได้ว่ามีเรื่องไม่พอใจทั้งชีวิตเลย ฮาฮา จึงดีใจมากที่ได้เป็นผู้ใหญ่ในวันหนึ่ง แล้วก็ขำผู้ใหญ่ในเรื่อง “หนูมีเรื่องไม่พอใจ” เอามากๆ เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราก็ไปไม่พ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไปทำร้ายเด็ก ๆ รุ่นต่อไปอยู่ดี

เพราะอะไร เพราะโครงสร้างนั่นเอง

สัมภาษณ์โดย Amarin Kids


สั่งซื้อนิทานชุด

Thinking Skills ฉลาดคิดรอบด้าน
เรื่องและภาพ ชินสุเกะ โยชิทาเกะ
แปล สุธีรา ศรีตระกูล

คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close