ในโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ในสังคมการทำงานที่เต็มไปด้วยคนมีความสามารถ และในชีวิตประจำวันที่ผู้คนต่างวิ่งไล่ตามความสำเร็จ ค่านิยมเชิดชูความขยันและความกดดันต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว (หรือบางทีอาจจะตั้งใจเลยด้วยซ้ำไป) แม้ว่าตัวเราเองนั้นก็มีความสามารถไม่น้อยหน้าไปกว่าคนอื่น แต่พอเห็นว่าใครต่อใครรอบตัวทยอยประสบความสำเร็จแล้ว ความมั่นใจที่มีอยู่กลับถูกบั่นทอนไปจนหมดสิ้น จนอดไม่ได้ที่จะกลับมามองดูและตั้งคำถามกับตัวเองว่า “นี่ฉันเก่งพอแล้วหรือยังนะ” ซึ่งอาการเสียศูนย์ และรู้สึกด้อยค่าในศักยภาพของตัวเองแบบนี้นี่เองที่เรียกว่าอาการของ “Imposter Syndrome”
“Imposter Syndrome” คืออะไร? Imposter Syndrome คือภาวะที่เรามักรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง ไม่ว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จหรือได้รับการชื่นชมมากแค่ไหน ก็จะยังคงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่มีความสามารถมากเพียงพอ ทั้งยังกังวลและตั้งคำถามกับศักยภาพของตัวเองอยู่เสมอ เพราะกลัวว่าวันหนึ่งจะถูกคนอื่นตัดสินว่าตัวเองไม่ได้เก่งจริง ภาวะ Imposter Syndrome มักเกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน และบางทีเราอาจกำลังมีอาการหรือพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าเราเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังเจ็บปวดจาก Imposter Syndrome อยู่โดยไม่รู้ตัว เช่น
– ลุยเดี่ยวทำงานเองตลอด ไม่ขอพึ่งพาใคร: เพราะลึก ๆ กลัวโดนมองว่าไม่เก่งจริง
– เป็น Perfectionism ทุกอย่างต้องออกมาสมบูรณ์แบบ: เพราะมองว่าความผิดพลาดคือความล้มเหลว
– ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา: เพราะกังวลว่าคนอื่นจะคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ
– เป็นคนโหมงานหนัก โต้รุ่งทุกวัน: เพราะกำลังกดดันที่เห็นว่าคนอื่นเขาพัฒนาตัวเองกันไปไกลแล้ว
ภาวะ Imposter Syndrome ที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ มีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่าง ในโลกทุนนิยมที่กดดันและบีบบังคับให้เราต้องพัฒนาตัวเองให้รอบรู้ตามทันคนอื่นตลอดเวลา ต้องประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น และต้องเป็น “คนเก่ง” ในทุกด้าน หลายต่อหลายครั้งคนรุ่นใหม่จึงเอาแต่คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ลงมือทำจะต้องสมบูรณ์แบบปราศจากข้อผิดพลาด และมักจะเอาความสามารถของตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนรอบตัว จนทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียงแค่ “เป็ด” ท่ามกลางฝูงหงส์ที่สง่างาม ความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่เก่งและไม่โดดเด่นในเรื่องใดเลยเช่นนี้เองที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มั่นใจในศักยภาพของตัวเอง ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเก่งแบบที่คนอื่นบอก และต้องพยายามผลักดันตัวเองให้พัฒนาอยู่เสมอ เพื่อหวังพิสูจน์ว่าความเก่งของตัวเองนั้นไม่ได้เกิดจากโชคช่วย
นอกจากนี้ Imposter Syndrome ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับวัยรุ่นในประเทศไทยเท่านั้น ยังเกิดในประเทศที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความกดดันอย่างเกาหลีใต้ที่การเรียนถือเป็นภาระอันหนักอึ้งที่วัยรุ่นทั้งหลายต้องแบกรับ ดังจะเห็นได้จากฤดูกาลสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กนักเรียนเกาหลีใต้ หรือที่เราคุ้นหูกันดีในชื่อ “การสอบซูนึง” การสอบที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นการแข่งขันที่กำหนดเส้นทางชีวิตและอนาคตของวัยรุ่นเกาหลีใต้ ถึงขั้นเคยมีการสำรวจออกมาว่า การสอบซูนึงในแต่ละปีจะมีนักเรียนประมาณ 650,000 คนร่วมสอบแข่งขันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเกาหลีใต้ และจะมีนักเรียนประมาณ 1% เท่านั้นที่ผ่านเข้ามหาวิทยาลัยที่ตนเองใฝ่ฝันไว้ได้ ความกดดันและการแข่งขันในประเทศเกาหลีใต้นั้นทั้งตึงเครียดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้มากเสียจนมีหนังสือมากมายที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อตีแผ่ปัญหานี้ และ “เพราะเป็นวัยรุ่น จึงเจ็บปวด” คือหนึ่งในหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อตีแผ่ปัญหาความกดดันต่าง ๆ ของวัยรุ่น โดยคิมรันโด อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ ผู้มองเห็นและรับรู้ถึงความเจ็บปวดที่วัยรุ่นทั้งหลายได้รับจากโลกแห่งการแข่งขันและการเปรียบเทียบมาโดยตลอด
มีบทหนึ่งในหนังสือที่กล่าวถึงวัยรุ่นที่ต้องพบกับความผิดหวังเมื่อตัวเองชวดโอกาสในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ตั้งความฝันไว้ว่า วัยรุ่นทั้งหลายต่างเอาความสำเร็จในการสอบแข่งขัน และการเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังมายึดถือเป็นคุณค่าสูงสุดในชีวิตตัวเอง ในแง่หนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากแต่คิมรันโดเชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่า การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณค่าก็สำคัญมากเช่นกัน ขณะเดียวกันก็หวังว่าวัยรุ่นทั้งหลายจะมีความสามารถในการจัดการตัวเองและพร้อมรับมือกับความคาดหวังของผู้คนรอบข้างได้
ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ในไทยหรือเกาหลีใต้ต่างก็เจ็บปวดจากภาวะ Imposter Syndrome ได้ทั้งนั้น เพราะหลายอย่างรอบตัวหล่อหลอมให้เราเสพติดความสมบูรณ์แบบ และคาดหวังว่าทุกอย่างที่ทำจะต้องมีผลลัพธ์ดีเลิศตามที่คิดไว้ แต่เพราะชีวิตคนเราไม่ได้ง่ายถึงเพียงนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสอบแข่งขันต่าง ๆ การตัดเกรดแบบอิงกลุ่มในรั้วมหาวิทยาลัย หรือสังคมในวัยทำงานที่ห้อมล้อมไปด้วยคนเก่ง ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัยของชีวิตล้วนส่งผลให้เรารู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง จากความไม่มั่นใจก็กลายเป็นความไม่พอใจในศักยภาพที่มี
และสุดท้าย ความไม่พอใจนี้ก็กลับกลายมาเป็นความเจ็บปวดที่เราต้องแบกรับมาโดยตลอด
แต่ถ้าเราลองเปรียบตัวเองเป็นดัง “ดอกไม้” แบบที่คิมรันโดกล่าวไว้ เราจะเห็นได้ว่าดอกไม้แต่ละชนิดนั้นล้วนงดงาม และมีช่วงเวลาแห่งการผลิบานที่แตกต่างกันออกไป เราไม่อาจคาดหวังจะเห็นดอกบ๊วยที่ผลิบานในฤดูใบไม้ผลิไปออกดอกในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และเมื่อกาลเวลาล่วงเข้าฤดูใบไม้ร่วง ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ดอกเบญจมาศได้ผลิดอกส่งกลิ่นหอม เพราะดอกไม้ต่างผลิบานในฤดูกาลที่แตกต่างกัน ความสำเร็จและเป้าหมายในชีวิตที่วัยรุ่นแต่ละคนวาดฝันก็จะมาถึงในช่วงเวลาที่เหมาะสมของคนแต่ละคนเช่นกัน
เพราะชีวิตของมนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดได้ แต่ทุกครั้งที่เราต้องเผชิญหน้ากับแบบทดสอบต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามานั้น ก็อย่าลืมใจดีกับตัวเอง ลองปล่อยให้ตัวเองได้เรียนรู้ทุกข้อผิดพลาดในชีวิต ลองปล่อยให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตโดยที่ไม่เอาความกดดันหรือความคาดหวังของใครมาแบกไว้บนบ่า คลายการเอาบรรทัดฐานชีวิตคนอื่นมาเป็นคุณค่าทั้งหมดของชีวิตตัวเอง เปลี่ยนจากที่เคยถามตัวเองตลอดเวลาว่า “นี่ฉันเก่งพอแล้วหรือยังนะ” เป็นบอกกับตัวเองในทุกวันว่า “วันนี้ฉันก็เก่งมาก ๆ แล้วนะ” และจดจำไว้เสมอว่า คุณคู่ควรแล้วกับทุกความสำเร็จและทุกคำชื่นชมในชีวิต คุณเก่งพอแล้วสำหรับทุกอย่าง อย่าลืมที่จะรักและภาคภูมิใจในความเป็นตัวเองให้มาก
และถ้าหากว่าวันนี้คุณยังก้าวข้ามความเจ็บปวดของการเป็นวัยรุ่นไปไม่ได้ ก็ขอให้คุณจดจำไว้เสมอว่า ขนาดดอกไม้ยังต้องใช้เวลารอคอยให้ตัวเองผลิบานอย่างสง่างามเลย คุณเองก็เหมือนกันนะ
“ดอกไม้แต่ละชนิดผลิบานในฤดูกาลของมันเอง ตอนนี้อาจยังไม่ถึงช่วงเวลาของคุณ อาจสายไปหน่อยเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่ถ้าฤดูกาลนั้นมาถึง คุณจะงดงามไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่น” – คิมรันโด
บทความโดย Pakjira Matapitak