“จากจินตนาการสู่ความเป็นจริง” จุดเริ่มต้นจักรวาลไซไฟของไอแซค อะซิมอฟ

ไอแซค อะซิมอฟ (Isaac Asimov) คือนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อเมริกัน ผู้สร้างสุดยอดผลงานนวนิยายไซไฟแห่งตำนานอย่าง “Foundation” หรือ “สถาบันสถาปนา” ที่ส่งต่อแรงบันดาลใจจากรุ่นสู่รุ่น

‘สถาบันสถาปนา’ บอกเล่าเรื่องราวของฮารี เชลดอน ผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์แห่งอนาคตประวัติศาสตร์ที่มองเห็นอนาคตว่าจักรวาลจะเต็มไปด้วยสงครามแย่งชิงอำนาจ จึงรวบรวมนักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งไปสร้างรากฐานที่ดาวดวงใหม่ตรงสุดขอบจักรวาล แต่พวกเขาไม่อาจหนีเงื้อมมือของอาณาจักรกาแล็กติกที่พยายามฟื้นตัวจากการล่มสลายด้วยการเข้าครอบครองทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ได้พ้น

นอกจาก “สถาบันสถาปนา” ที่โดดเด่นเรื่องการทำนายอนาคตแล้ว ผลงานอีกหนึ่งชิ้นของอะซิมอฟอย่าง “I, Robot” ที่เขียนขึ้นเมื่อ 72 ปีก่อน ว่าด้วยเรื่องโลกอนาคตที่หุ่นยนต์จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และอีกไม่นานพวกมันจะสามารถแทนที่มนุษยชาติได้เสมือนกับทำนายโลกปัจจุบัน โดยในปี 2004 ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อดังและได้นักแสดงชายอย่าง ‘วิลล์ สมิธ (Will Smith)’ มารับบทนำอีกด้วย

จักรวาลอนาคตของไอแซคดูน่าทึ่งและมหัศจรรย์ราวกับว่าเขาสามารถมองเห็นโลกอนาคตด้วยตาของตนเอง ด้วยจินตนาการที่เหนือชั้นและสมจริง จึงทำให้ผลงานของเขาได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนถูกยกย่องว่าเป็นเสาหลักของนวนิยายไซ-ไฟและส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่งานชิ้นอื่น ๆ ทั่วโลก

แต่กว่าจะประกอบสร้างจนกลายเป็นจักรวาลไซ-ไฟอันยิ่งใหญ่ได้นั้น เขาต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง ไปดูกันได้เลย

กว่าจะเป็น ‘ไอแซค อะซิมอฟ’ ที่เรารู้จัก

ไอแซค อะซิมอฟเกิดเมื่อ พ.ศ. 2463 ทีประเทศรัสเซีย พออายุ 3 ขวบก็ได้ย้ายรกรากไปอยู่ที่รัฐบรูกลิน สหรัฐอเมริกา ครอบครัวของเขาเปิดกิจการร้านขนมซึ่งวางขายหนังสือพิมพ์และนิตยสารด้วย จึงทำให้เขาสามารถเข้าถึงการอ่านได้อย่างไม่จำกัด

อะซิมอฟหลงรักการเขียนมาก เมื่ออายุ 12 เขาเริ่มต้นความฝันด้วยการเล่าเรื่องที่แต่งเองให้เพื่อนฟัง และเริ่มเขียนจดหมายหาบรรณาธิการนิตยสารเพื่อแสดงความเห็นในฐานะแฟนคลับ ในวัย 18 ปี เขาอ่านนิตยสาร Astounding Science Fiction (นิตยสารนิยายวิทยาศาสตร์) และลงมือเขียนเรื่องราวของตัวเอง ผู้เป็นพ่อที่สนับสนุนฝันของลูกชายมาตลอดเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่ดี จึงเกลี้ยกล่อมให้อะซิมอฟซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นนักเขียนมือใหม่ส่งต้นฉบับถึง จอห์น แคมป์เบลล์ (John W. Campbell) บรรณาธิการชื่อดังของนิตยสารในช่วงแรก ผลงานของเขาถูกปฏิเสธถึง 6 เรื่อง แต่อะซิมอฟไม่ยอมแพ้ 4 เดือนถัดมาผลงานของเขาเริ่มขายได้ รวมถึงผลงานที่เป็นนิยายสร้างชื่อในนิตยสารของจอห์น แคมป์เบลล์

อะซิมอฟจบปริญญาตรีและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้รับปริญญาเอกสาขาเคมีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเช่นเดียวกัน พ.ศ. 2493 เขาได้เป็นศาสตราจารย์เคมีที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน ก่อนลาออกเพื่อเขียนหนังสืออย่างจริงจัง

ขณะที่เรียน อะซิมอฟไม่เคยทอดทิ้งการเขียนเลย ผลงานของเขาจึงมีมากกว่า 500 เรื่อง แบ่งเป็นนวนิยาย 40 เรื่อง เรื่องสั้น 383 เรื่อง และหนังสือสารคดี 280 เรื่อง ภายหลัง ผลงานของไอแซค อะซิมอฟกลายเป็นผลงานไซไฟที่ทรงอิทธิพลในยุคถัดมาเช่น I, Robot และ Foundation และ พ.ศ. 2520 เขาก่อตั้งนิตยสาร Asimov’s Astounding Science Fiction เขาต้องการให้นิตยสารนี้เป็นใบเบิกทางให้นักเขียนหน้าใหม่ได้รับโอกาสเช่นเดียวกับที่เขาได้รับเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น

รากฐานและแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด ‘foundation’

ขณะทำงานกับจอห์น แคมเบลล์ อะซิมอฟกล่าวในนิตยสาร The Early Asimov: Or, Eleven Years of Trying ว่าเรื่องราว Foundation ที่เป็นต้นฉบับแท้จริงแล้วเกิดจากการรวบรวมเรื่องสั้นแปดเรื่องที่เขาเคยเขียนไว้เมื่อสิบปีก่อน โดยเริ่มแรกตีพิมพ์ในนิตยสาร Astounding Magazine และไอเดียสำหรับเรื่อง Foundation นั้นเกิดขึ้นในช่วงที่ร่วมงานกับจอห์น แคมเบลล์ ผ่านเรื่องสั้นช่วงแรกอย่าง The Black Friar And The Flame และ The Imaginary สองเรื่องนี้เป็นรากฐานแนวคิดที่เขาจะใช้สร้าง Foundation รวมถึงเรื่องกาแล็กซีและประวัติศาสตร์จิตวิทยา

จักรวรรดิโรมัน

อะซิมอฟชื่นชอบประวัติศาสตร์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องราวของจักรวรรดิโรมัน หลังจากอ่าน ‘ประวัติศาสตร์ของความเสื่อมโทรมและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน’ ของเอ็ดเวิร์ด กิบบอน (Edward Gibbon) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อะซิมอฟก็ได้แรงบันดาลใจในการเขียนหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเองแต่เป็นในระดับที่ใหญ่กว่ากาแล็กซี มีการเปรียบเทียบหลายอย่างตั้งแต่โครงสร้างทางการเมือง ไปจนถึงดินแดนไร้ขอบเขตที่ปกครองโดยจักรพรรดิพระองค์เดียวที่พยายามควบคุมระบบชนชั้นในจักรวรรดิ

ชีวเคมี

ช่วงที่เรียนวิชาเคมี อะซิมอฟพบว่าเรามีทฤษฎีต่างๆ ที่สามารถทำนายพฤติกรรมของโมเลกุลก๊าซได้แม่นยำ เขาจึงเริ่มตั้งสมมติฐานว่า ผู้คนหลายพันล้านคนที่ประกอบเป็นอารยธรรมจักรวรรดิแผ่กิ่งก้านสาขาไม่ต่างจากโมเลกุลของก๊าซหลายพันล้านโมเลกุลที่เขาเคยเรียน อะซิมอฟจึงเริ่มคิดไอเดียประวัติศาสตร์จิตวิทยาขึ้นมาเป็นฉากหลังของอาณาจักรกาแล็กซีอันกว้างใหญ่ โดยใช้สังคมศาสตร์ผสมผสานกับจิตวิทยาและประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องการทำนายอนาคตของมวลมนุษย์ในจักรวาล และใช้เป็นแกนกลางสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องราวของ Foundation

ส่งต่อจักรวาลไซไฟ ผ่านนิยาย ‘Foundation’

ผลงานชื่อดังที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของ อะซิมอฟ ได้แก่

Star Wars

สื่อเฟรนไชส์ที่โด่งดังไปทั่วโลกสร้างโดย จอร์จ ลูคัส เรื่องราวอาณาจักรอันไกลโพ้นที่มนุษย์แผ่ขยายไปทั่วจักรวาล แม้ว่าเรื่องนี้จะอยู่คนละกาแล็กซีกับ Foundation แต่ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของไอแซค อะซิมอฟเช่นเดียวกัน

The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy

มีฉบับแปลไทยว่า ‘คู่มือท่องกาแล็กซีฉบับนักโบก’ นิยายไซไฟสายตลก เรื่องราวของของอาร์เธอร์ ชายผู้มีเพื่อนเป็นมนุษย์ต่างดาวและฟอร์ด นักเก็บข้อมูลภาคสนามของหนังสือท่องเที่ยวอวกาศ ที่ค้นพบความจริงภายในกาแล็กซีที่พวกเขาอาศัยอยู่มีความลับบางอย่างที่ซ่อนอยู่

Futurama

การ์ตูนซิตคอมชื่อดังของประเทศสหรัฐอเมริกา มีฉากหลังเป็นกาแล็กซีหนึ่งที่มนุษย์ มนุษย์ต่างดาว และหุ่นยนต์อยู่ด้วยกันอย่างสันติ

Dune

มหากาพย์ไซไฟชื่อดังอีกหนึ่งเรื่อง ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับโลกอนาคตอันไกลโพ้นที่มนุษย์ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ตามดวงดาวต่าง ๆ ภายใต้การดูแลขององค์จักรดิพรรดิ หลังจากมนุษยชาติละทิ้งเทคโนโลยีพวกเขาก็ได้สร้างความคิดความเชื่อที่ว่ามนุษย์คือสิ่งที่สูงสุดขึ้นมาใหม่ และสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในกาแล็กซีแห่งนี้คือผงสไปรซ์ ซึ่งจะพบได้แค่ดาวทะเลทรายที่เต็มไปด้วยอันตรายนามว่าดูน เรื่องราวของเกมการเมืองและการแย่งชิงอำนาจเพื่อครอบครองทรัพยากรจึงอุบัติขึ้น

บทความโดย แพรวสำนักพิมพ์


ย้อนเดินทางสู่จักรวาลไซไฟใน

FOUNDATION สถาบันสถาปนา
Isaac Asimov เขียน
บรรยงค์ แปล

คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close