“คำสาปคุซเน็ทส์” คำเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มาก่อนกาล

ไซมอน คุซเน็ทส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันสัญชาติรัสเซียและเจ้าของรางวัลโนเบล เคยเตือนถึงปัญหาเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบันมาตั้งแต่ 80 ปีที่แล้ว! ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบันอาจไม่เป็นปัญหามากขนาดนี้ ถ้าพวกเราใส่ใจฟังบทเรียนจากเขาตั้งแต่แรก

แล้วไซมอน คุซเน็ทส์ เตือนอะไรแก่ชาวโลกไว้บ้าง

คำสาปคุซเน็ทส์ข้อที่ 1 “เมื่อจีดีพีคือมาตรวัดความก้าวหน้า”

ค.ศ. 1934 หรือนานหลายปีก่อนเกิดข้อตกลงเบรตตันวูดส์ คุซเน็ทส์ได้เตือนรัฐสภาสหรัฐอเมริกาไม่ให้สนใจแต่เป้าหมายแคบอย่างจีเอ็นพีและจีดีพี เขาบอกว่า “ความอยู่ดีกินดีของประเทศใดประเทศหนึ่งแทบไม่อาจอนุมานจากมาตรวัดรายได้ประชาชาติมาตรเดียวได้” ซึ่งประเด็นนี้คุซเน็ทส์พูดถูก จีดีพีบอกถึงข้อมูลการบริโภคแต่ไม่ได้บอกถึงความเป็นอยู่ที่ดี บอกถึงการผลิตแต่ไม่ได้บอกถึงมลพิษหรือการใช้ทรัพยากร บอกถึงรายจ่ายของรัฐบาลและการลงทุนของภาคเอกชน แต่ไม่ได้บอกถึงคุณภาพชีวิต

ไดแอน คอยล์ นักเศรษฐศาสตร์จากออกซฟอร์ด กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2019 ว่า ที่จริงแล้วจีดีพีคือ “ตัวชี้วัดช่วงสงคราม” ที่บอกให้มนุษย์รู้ว่าเศรษฐกิจของเราทำอะไรได้แค่ไหนในช่วงสงคราม แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำให้ผู้คนมีความสุขได้อย่างไรในยามสงบสุข แต่ขณะนั้น แม้จะมีคำเตือนดังกล่าวก็ไม่มีใครฟัง ผู้ออกนโยบายและธนาคารกลางทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อกระตุ้นการเติบโตของจีดีพี

ทุกวันนี้ความพยายามเหล่านั้นล้วนไม่เป็นผล จีดีพีไม่เติบโตอย่างที่เคยเป็น และความเป็นอยู่ที่ดีก็หยุดชะงักไปนานแล้ว สังคมต่าง ๆ รู้สึกราวกำลังประสบวิกฤติถาวร และมีเหตุผลที่น่าจะทำให้คนรู้สึกอย่างนั้นด้วย

อย่างที่คุซเน็ทส์รู้ เราไม่มีทางใช้การเติบโตของจีดีพีเป็นหมุดหมายเดียวในการสร้างนโยบายได้ น่าเสียดายที่เรามาเข้าใจเมื่อสายเกินไป การเติบโตของจีดีพีคือมาตรวัดสำคัญของเราและจีดีพีได้ชะลอตัวลงอย่างถาวรแล้ว

คำสาปคุซเน็ทส์ข้อที่ 2 “ความไม่เท่าเทียม”

ผลของการพยายามเพิ่มการเติบโตของจีดีพีอย่างหน้ามืดตามัว ยังมีคำสาปที่สองของคุซเน็ทส์ นั่นคือ “เส้นโค้งคุซเน็ทส์” ขณะที่คุซเน็ทส์ทำงานในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ในทศวรรษ 1950 เขาเริ่มตั้งทฤษฎีจากปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ เขาสังเกตเห็นว่า ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ในสหรัฐอเมริกาเริ่มลดลงในช่วงหลังสงคราม เมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจขยายตัวออกไป ซึ่งตรงข้ามกับช่วงก่อนสงครามที่อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่รายได้และความมั่งคั่งกลับกระจุกอยู่ในมือคนไม่กี่คน ข้อสังเกตทำนองเดียวกันเพียงอาจไม่สุดขั้วเท่านี้สามารถพบได้ในประเทศกำลังพัฒนามากมาย

คุซเน็ทส์ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับตัวเลขที่เขาพบทั้งในเอกสารที่เตรียมไว้สำหรับสมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกัน และสุนทรพจน์ที่ประธานาธิบดีจะกล่าวต่อสมาคม เขาได้ความเข้าใจเชิงลึกที่อาจเป็นตัวพลิกเกมในการพัฒนาเศรษฐกิจถ้าสิ่งที่เขาคิดเป็นจริงขึ้นมาเมื่อเวลาผ่านไป

ที่จริงเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายเศรษฐกิจด้วย

ความไม่เท่าเทียมจะมีมากขึ้นเมื่อประเทศเริ่มพัฒนา แต่เมื่อการพัฒนาดำเนินต่อไปอีก ความไม่เท่าเทียมจะลดลง อีกนัยหนึ่งคือความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงแรกของการพัฒนาประเทศจะถูกหักล้างด้วยความเท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้นในภายหลัง

ทฤษฎีที่คุซเน็ทส์เสนอกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก โดยเฉพาะหลังจากที่เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อ ค.ศ. 1971 จากการสร้างการคำนวณรายได้ประชาชาติ (แทนที่จะเป็นทฤษฎีเส้นโค้งคุซเน็ทส์) ตลอดทศวรรษ 1980 นักเศรษฐศาสตร์ต่างพากันนำทฤษฎีที่มองโลกในแง่ดีของคุซเน็ทส์ไปใช้ และสร้างกราฟที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์เมื่อนำทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้กับประเทศต่าง ๆ และยุคสมัยต่าง ๆ รวมถึงคิดโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นจากแนวคิดนี้ แต่ติดปัญหาอยู่อย่างเดียวคือเมื่อเวลาผ่านไป ทฤษฎีนี้ก็ไม่เป็นจริงอีกต่อไป อย่างที่ข้อเท็จจริงบางส่วนที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันเผยให้เห็นความจริงนี้

คำสาปคุซเน็ทส์ข้อที่ 3 “สิ่งแวดล้อม”

ลัทธิบริโภคนิยมที่กำลังดำเนินไปในโลกตะวันตกและจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็วอาจนำมาสู่คำถามที่ว่า ระบบเศรษฐกิจสังคมของเราสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรส่วนรวมของโลกอย่างไรบ้าง

ยุคนี้คือยุคที่รถยนต์และโรงงานปล่อยควันปกคลุมเมืองต่างๆ หนาขึ้น มีการค้นพบรูรั่วที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของชั้นโอโซนที่ปกป้องผืนฟ้าของโลก มีการสร้างโรงงานนิวเคลียร์และขยะนิวเคลียร์ และมีการใช้พลาสติกและวัตถุอันตราย เช่น แร่ใยหินในการก่อสร้างอย่างแพร่หลาย เรื่องนี้คล้ายคลึงกับข้อสังเกตชั่วคราวเรื่องความไม่เท่าเทียมของคุซเน็ทส์

นักเศรษฐศาสตร์บางคนคิดว่าไม่มีอะไรให้กังวลมากนัก ทันทีที่พวกเขาพบว่ามลพิษทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ก็มีสัญญาณแห่งความหวังเกิดขึ้นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะหายไปในอีกไม่นาน เพราะยิ่งกระบวนการผลิตทันสมัยขึ้นเท่าไร พลังงานก็ยิ่งสะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการผลิตสินค้าแต่ละอย่างดูเหมือนจะเป็นไปตามเส้นโค้งคุซเน็ทส์ด้านสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้บอกว่า หากให้เวลาอีกสักสองสามปี หรือสองสามทศวรรษ ปัญหานี้จะคลี่คลายไปได้ด้วยตัวมันเอง แบบเดียวกับความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

บทความโดย howto


รู้จักอำนาจของโลกทุนนิยมให้มากขึ้นกับหนังสือ

โลกทุนนิยมที่ทุกคนเป็นเจ้าของ
Stakeholder Capitalism
เขียนโดย Klaus Schwab ร่วมกับ Peter Vanham
แปลโดย ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close