รู้จักโลกสี่พันล้านปีจบใน 8 ภาค เพื่อเข้าใจโลกในตอนนี้ให้มากขึ้น

ศาสตราจารย์แอนดรูว์ นอลล์ นักชีววิทยาและนักโลกศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียน “ประวัติย่อของดาวโลก A Brief History of Earth” จะพาคุณย้อนเวลา ท่องพื้นพิภพตั้งแต่อดีตสี่พันล้านปีก่อน ไล่ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านการอ่านสมุดบันทึกจากชั้นหินหนาแน่นหนักที่ธรรมชาติเก็บรักษาไว้ให้ ผ่านทุกบรมยุค มหายุค และยุคสมัยมากมาย โลกบันทึกเรื่องราวของมันเสมอในแผ่นดิน ในฟอสซิลมีชีวิต ในชั้นหินมีตำนาน ในผืนน้ำ และอากาศมีร่องรอยแห่งวิวัฒนาการของบ้านหลังเดียวของเรา บ้านที่เราอาจรู้จักมันน้อยที่สุด รู้จักโลกสี่พันล้านปีจบใน 8 ภาค เพื่อเข้าใจโลกในตอนนี้ให้มากขึ้น พร้อมกัน !

ภาค 1 โลกเคมี

ประมาณ 13.8 ล้านปีก่อน จุดเริ่มต้นเล็กจิ๋วของเอกภพได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นบิ๊กแบง หรือการระเบิดครั้งใหญ่ ปลดปล่อยคลื่นแห่งพลังงานและมวลสารออกมาสู่ภายนอก สสารที่ว่าไม่ใช่หินหรือแร่ธาตุที่เราพบในการดำรงอยู่ของเรา ไม่ใช่แม้แต่อะตอมที่ประกอบขึ้นเป็นหิน อากาศ และน้ำ สสารในช่วงแรกแย้มของเอกภพคือควาร์ก เลปตอน และกลูออน ซึ่งเป็นกลุ่มอนุภาคพื้นฐานที่จะรวมตัวกันเป็นอะตอม

ความเข้าใจเกี่ยวกับเอกภพและประวัติศาสตร์ของมันส่วนใหญ่แล้วมาจากสิ่งชั่วคราวที่สุด นั่นคือ “แสงสว่าง” จุดแสงระยิบระยับที่ทำให้ท้องฟ้ายามค่ำคืนเป็นรูปเป็นร่างอาจดูไม่น่าจะเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ แต่คุณสมบัติสองอย่างของแสงช่วยให้เราเข้าใจว่าเอกภพมีวิวัฒนาการอย่างไร

ภาค 2 โลกกายภาพ

เป็นเวลาหลายล้านปีที่บรรพบุรุษของเรามองว่าลักษณะทางกายภาพของโลกเป็นสิ่งถาวร พรมแดน เส้นทางคมนาคม ทรัพยากร รวมถึงพืชและสัตว์ที่แวดล้อมชีวิตของเราล้วนไม่เปลี่ยนแปลง แต่มุมมองแบบนั้นเริ่มเปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 17

เมื่อ นิโคลัส สเตโน แพทย์ประจำตระกูลเมดิชีมองเห็นว่า “กลอสโซเปแตร” ซึ่งเป็นหินรูปร่างเหมือนลิ้นในแถบไหล่เขาแถบทัสคานี ที่แท้คือฟันของฉลามที่เคยมีชีวิตอยู่จริง สเตโนให้เหตุผลว่าเมื่อฉลามตายและเน่าเปื่อย ฟันของมันได้ฝังตัวลงในตะกอนที่พื้นทะเล ถ้าเรายอมรับเหตุผลนี้ การค้นพบฟันฉลามที่เนินเขาเหนือเมืองฟลอเรนซ์ย่อมหมายความว่าครั้งหนึ่งทะเลเคยมีระดับสูงกว่าทุกวันนี้ หรือไม่หินที่ก่อตัวขึ้นเป็นเนินเขาก็ต้องถูกยกขึ้นสูงจากทะเล

“อ่าว” คือตัวอย่างของการถูกทับถมจนเต็ม ความเคลื่อนไหวใต้เปลือกโลกจะทำให้อ่าวใหม่ก่อตัวขึ้นเสมอ ดังนั้นความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมของโลกจึงถูกรักษาไว้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายด้วยสมดุลระหว่างการยกตัวขึ้นและการสึกกร่อนหดหาย

ภาค 3 โลกชีวภาพ

ลักษณะของชีวิตอธิบายได้ด้วยการเติบโตและการสืบพันธุ์ การเผาผลาญอาหาร และวิวัฒนาการ ถ้าลักษณะเหล่านี้เป็นการจำกัดความสิ่งมีชีวิตตามที่เรารู้จัก เช่นนั้นแล้วสิ่งมีชีวิตรุ่นแรก ๆ จะมีหน้าตาอย่างไร แน่นอนว่าพวกมันไม่มีฟัน กระดูก ใบ หรือราก

สิ่งมีชีวิตที่เรียบง่ายที่สุดที่เรารู้จักในปัจจุบันคือ แบคทีเรียและญาติตัวจิ๋วของมันชื่ออาร์เคีย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่สามารถบรรจุทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโต สืบพันธุ์ เผาผลาญอาหาร และวิวัฒนาการไว้ได้ภายในเซลล์เดียว อย่างน้อยบรรพบุรุษรุ่นสุดท้ายที่ชีวิตปัจจุบันมีร่วมกันก็น่าจะต้องมีเซลล์คล้ายแบคทีเรีย แม้แต่แบคทีเรียที่เรียบง่ายที่สุดก็ยังเป็นโมเลกุลที่ซับซ้อน เป็นผลงานของวิวัฒนาการ หาใช่จุดเริ่มต้นของมัน

ชีวิตเป็นเครื่องจักรทางเคมีที่วิวัฒนาการผ่านกาลเวลา หรือเรียกว่าเป็นส่วนผสมทางเคมีที่มีประวัติศาสตร์ก็ได้ ด้วยเหตุนี้ การสำรวจต้นกำเนิดชีวิตในห้องทดลองทั้งหลายจึงมุ่งค้นหาว่าองค์ประกอบทางเคมีของเซลล์สามารถก่อตัวขึ้นในโลกที่ไร้ชีวิตได้อย่างไร

ภาค 4 โลกออกซิเจน

เป็นเวลามากกว่าสองพันล้านปีหรือเกือบครึ่งแรกของประวัติศาสตร์ดาวโลก ที่บรรยากาศและมหาสมุทรอยู่ในสภาวะปราศจากออกซิเจนอย่างแท้จริง สิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่มีทางดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งทำให้เกิดคำถามสำคัญสองข้อ เราทำความเข้าใจกันแล้วว่า โลกเป็นดาวเคราะห์ชีวภาพเมื่อ 3.5 พันล้านปีก่อนและอาจจะก่อนหน้านั้น ดังนั้นคำถามแรกคือ สิ่งมีชีวิตประเภทไหนกันที่สามารถเจริญเติบโตได้ในโลกยุคแรกเริ่มที่ไม่มีอากาศ และคำถามที่สองคือ อะไรทำให้สภาพของพื้นผิวโลกที่เป็นเช่นนั้นมายาวนานเปลี่ยนแปลงเมื่อ 2.4 พันล้านปีก่อน

คำถามเรื่องการมีชีวิตโดยปราศจากออกซิเจนเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก เพราะปัจจุบันสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจนยังมีอยู่ และเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต แล้วชีวิตดำเนินไปอย่างไรในที่อยู่อาศัยแบบนั้น ในโลกที่เราคุ้นเคยดี พืชได้พลังงานและคาร์บอนผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง นำพลังงานแสงมาใช้ประโยชน์ในการสร้างน้ำตาลขึ้นจากคาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาเป็นผลพลอยได้ เมื่อทำให้อยู่ในรูปแบบง่าย ๆ ด้วยสมการการสังเคราะห์แสงแบบนี้

CO2 + H2O CH2O + O2

ส่วนพวกสัตว์ทำตรงกันข้าม คือรับโมเลกุลชีอินทรีย์เข้ามาในฐานะอาหาร และบางส่วนทำปฏิกิริยากับออกซิเจนเพื่อจะได้รับพลังงาน หรือที่เราเรียกว่าการหายใจ (พืชก็หายใจเช่นกัน)

CH2O + O2 CO2 + H2O

ปฏิกิริยาทั้งสองอย่างนี้เติมเต็มกันและกัน กระบวนการหนึ่งเป็นการย้อนกลับของอีกกระบวนการหนึ่ง ผลที่เกิดตามมาก็คือ คาร์บอนและออกซิเจนหมุนเวียนกลับไปกลับมาระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม หล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่ตลอดมา

ภาค 5 โลกของสัตว์

หน้าผาที่แหลมมิสเทเคนประกอบด้วยตะกอนโคลนและเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ทับถมชั้นแล้วชั้นเล่าเหนือพื้นทะเลลึกเมื่อ 565 ล้านปีก่อน สถานที่แห่งนี้มีลักษณะโดดเด่นสามประการที่รวมกันแล้วทำให้พิเศษมาก

ประการแรกคือหน้าผาริมทะเลแบบขั้นบันไดเผยให้เห็นพื้นผิวกว้างขวางของชั้นดินตะกอนสมัยโบราณ ได้รับการรักษาไว้ตลอดมาด้วยการตกสะสมอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือทำให้เราสามารถเดินข้ามพื้นทะเลสมัยโบราณได้ ลักษณะไม่ธรรมดาประการที่สองคือ มีเถ้าถ่านภูเขาไฟมากมายที่ช่วยให้หาอายุของแต่ละชั้นหินได้ง่าย ประการที่สามซึ่งพิเศษที่สุดคือ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นผิวของชั้นดิน เมื่อมองเข้าไปจะเห็นฟอสซิลหน้าตาประหลาดอัศจรรย์นับร้อย ดูแล้วเหมือนสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในที่ที่มันเคยมีชีวิตอยู่ ก่อนจะถูกฝังด้วยเถ้าถ่านภูเขาไฟ ราวกับเป็นเมืองปอมเปอียุคดึกดำบรรพ์

บางอย่างดูแล้วคล้ายใบเฟิร์น บางอย่างก็เหมือนพัด มีสองสามชนิดที่ผอมยาวคล้ายขนหางของไก่ฟ้า จำนวนไม่น้อยตั้งตรงเหนือพื้นทะเลโดยยึดติดกับตะกอนด้วยตะขอทรงกระเปาะ แต่ก็แกว่งไปแกว่งมาตามกระแสน้ำ และมีบางส่วนกระจายไปทั่วพื้นผิวตะกอน แต่ไม่ว่าฟอสซิลเหล่านี้จะยาวหรือกว้างขนาดไหนก็หนาแค่ไม่กี่มิลลิเมตร และส่วนใหญ่มีโครงสร้างเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต่อกันเป็นแผ่นใหญ่ เหมือนปล้องที่เชื่อมต่อกันเป็นที่นอนเป่าลมที่ผมเคยใช้สมัยเข้าค่าย

ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่าพวกมันเป็นฟอสซิลของสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เราเคยรู้จัก เป็นจุดเริ่มต้นของเราในการทำความรู้จักกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ต่อมาจะทวีความหลากหลายและแผ่ขยายไปทั่วพื้นผิวดาวเคราะห์

ภาค 6 โลกสีเขียว

จุลินทรีย์อาจตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินตั้งแต่ช่วงแรกของประวัติศาสตร์โลก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกคือพืชต่างหาก มันจัดหาทั้งอาหารและโครงสร้างทางกายภาพให้กับระบบนิเวศบนบกที่สลับซับซ้อน ปัจจุบันพืชบกประมาณสี่แสนสายพันธุ์เป็นผู้สังเคราะห์แสงครึ่งหนึ่งของโลก และคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของมวลชีวภาพทั้งหมดบนดาวเคราะห์ดวงนี้

เสื้อคลุมสีเขียวสว่างสดใสเป็นลักษณะเด่นของโลกที่มองเห็นได้จากอวกาศ ในปี 1990 ตอนที่ยานอวกาศกาลิเลโอของนาซ่าบินไปดาวพุธ มันปรับกลไกดวงตาให้มองมายังดาวโลกที่อยู่ไกลออกไป ในแสงที่สะท้อนออกมาจากโลก ดวงตาของยานเผยให้เห็นรังสีความถี่สูงเกือบเท่าอินฟราเรด หรือที่เรียกกันว่าช่วงคลื่นขอบแดงพืชพรรณ (vegetation red edge) ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์นี้เกิดขึ้นเพราะพืชพรรณบนบกดูดซับรังสีที่มองเห็นได้ที่เดินทางมายังโลก แต่สะท้อนคลื่นรังสีอินฟราเรดกลับไปสู่อวกาศ ผู้มาเยือนโลกในสมัยแรกเริ่มคงไม่เห็นภาพแบบนี้แน่

แม้สัตว์ต่าง ๆ ถือกำเนิดในมหาสมุทร แต่ทุกวันนี้ความหลากหลายที่สุดของมันอยู่บนบก แค่สายพันธุ์แมลงเพียงอย่างเดียวก็มีมากมายกว่าสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในทะเลแล้ว ความหลากหลายของชนิดเห็ดราซึ่งมีจำนวนมากและส่วนใหญ่ไม่มีการทำบันทึกไว้กระจายอยู่ทั่วไปในดิน โพรทิสต์และแบคทีเรียช่วยสร้างการหมุนเวียนของคาร์บอน ไนโตรเจน ซัลเฟอร์ และแร่ธาตุอื่น ๆ บนบก เช่นเดียวกับที่มันเคยทำไว้กับผืนน้ำเมื่อนานมาแล้ว

เห็นได้ชัดว่า โลกที่มีทุ่งหญ้าและผืนป่า ตั๊กแตนและกระต่ายที่เราคุ้นตานั้น แสดงถึงการเปลี่ยนสภาพครั้งสำคัญของทวีปและเกาะแก่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสิบเปอร์เซนต์หลังของประวัติศาสตร์โลกนี่เอง ความเขียวของดาวเคราะห์ดวงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมันส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร

ภาค 7 โลกแห่งภัยพิบัติ

เหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดที่เรารู้จักไม่ได้เกิดในช่วงปลายยุคครีเทเชียส แต่เกิดช่วงปลายยุคเพอร์เมียนเมื่อ 252 ล้านปีก่อน ซึ่งมากกว่า 90 เปอร์เซนต์ของสายพันธุ์สัตว์ทะเลหายไป และอาจดูเป็นเรื่องบังเอิญที่เหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทั้งสองเกิดขึ้นในช่วงเชื่อมต่อระหว่างมหายุคในบรมยุคพาเนโรโซอิก แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

นักบรรพชีวินวิทยาในศตวรรษที่ 19 ได้สร้างมาตราธรณีกาลโดยยึดตามฟอสซิล และการเปลี่ยนแปลงทางบรรพชีวินที่โดดเด่นที่สุดในตอนปลายยุคเพอร์เมียนและยุคครีเทเชียสเป็นหมุดหมายธรรมชาติที่แบ่งประวัติศาสตร์ดาวโลกออกเป็นส่วนย่อย

ภัยพิบัติทางชีวภาพที่ทำให้ยุคเพอร์เมียนสิ้นสุดลงถูกจารึกอย่างชัดเจนในหินบนไหล่เขาเหมยซานในประเทศจีน กลุ่มหินที่เหมยซานบอกเล่าเรื่องราวชวนขนลุกทีเดียว หินปูนใกล้ฐานภูเขาเต็มไปด้วยฟอสซิลสัตว์ทะเลตอนปลายยุคเพอร์เมียน ทั้งบราคิโอพอด ไบรโอซัว เอไคโนเดิร์ม โปรติสต์ซึ่งมีโครงกระดูกขนาดใหญ่ และอื่น ๆ

ถ้าคุณได้ว่ายน้ำอยู่แถวชายฝั่งทะเลตอนปลายยุคเพอร์เมียน คุณคงสังเกตเห็นสัตว์ สาหร่าย และโปรโตซัวมากมายหลายชนิดกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นทะเลน้ำตื้น แต่เมื่อว่ายต่อมาถึงครึ่งหนึ่งของชั่วระยะเวลาดังกล่าว ฟอสซิลเหล่านี้ก็หายไปเฉย ๆ หายเกลี้ยงทั้งหมด ณ จุดหนึ่งที่มีความหนาเท่ากับใบมีด ฟอสซิลเหล่านี้ไม่ปรากฎให้เห็นอีกในหินที่อายุน้อยกว่า และเมื่อเราเดินขึ้นไกลขึ้นไปบนไหล่เขา เราก็ได้พบแต่ฟอสซิลขนาดเล็กของพวกหอยกาบและหอยทากเท่านั้น

มันเกิดอะไรขึ้น… ก้าวแรกที่จะนำไปสู่คำตอบมาจากชั้นเถ้าถ่านภูเขาไฟบาง ๆ ที่แทรกตัวอยู่ตามหินปูนที่เหมยซาน ชั้นขี้เถ้านี้อยู่เหนือและอยู่ใต้แนวการสูญพันธุ์อายุ 251.94 บวกหรือลบไม่เกิน 0.037 และ 251.880 บวกหรือลบไม่เกิน 0.031 ล้านปีตามลำดับ อายุที่ค่อนข้างแน่นอนเช่นนี้คือกุญแจสำคัญ เพราะมันสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาน่าตื่นตะลึงที่เกิดขึ้นห่างออกไปครึ่งทวีป นั่นคือเหตุการณ์ที่เรียกว่าไซบีเรียนแทรปส์ (siberian traps) ซึ่งเป็นบันทึกร่องรอยการปะทุของลาวาหินบะซอลท์ปริมาณมหาศาล ไม่ต่างจากที่ไหลข้ามเกาะฮาวาย

ภาค 8 โลกของมนุษย์

เมื่อเถ้าถ่านกองสุดท้ายจากมหาภัยพิบัติที่ปิดฉากยุคครีเทเชียสเย็นตัวลง 66 ล้านปีก่อน ดาวเคราะห์ของเราก็เริ่มต้นเรื่องราวบทใหม่ พืชและสัตว์ที่อยู่รอดเพิ่มความหลากหลายขึ้นเกือบจะทันที ระบบนิเวศบนบกที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่และปรับตัวเก่งภายในเวลาไม่กี่แสนปี

โลกซึ่งอากาศอุ่นอยู่แล้วยิ่งอุ่นขึ้นไปอีกในช่วงสิบห้าล้านปีต่อมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฎการณ์เรือนกระจกเพราะปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศค่อนข้างมาก ต้นปาล์มกลายเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในอลาสก้า ส่วนอัลลิเกเตอร์ก็เลื้อยไปมาในเขตอาร์กติกของแคนาดา

เมื่อไม่มีไดโนเสาร์แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็เพิ่มความหลากหลายในรูปแบบใหม่ และกลายเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในชุมชนสิ่งมีชีวิตบนบก ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือสิ่งมีชีวิตตัวน้อยคล้ายกับตัวทาร์เซีย อาศัยอยู่บนต้นไม้ในเขตร้อน และน่าจะกินแมลงเป็นอาหาร พวกมันคือไพรเมตรุ่นแรก และเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์

ไพรเมตแผ่ขยายไปทั่วภูมิประเทศพร้อมกับฉากหลังทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่ความหลากหลายของลีเมอร์ ทาร์เซีย ลิง และสาขาของตระกูลไพรเมตที่กลายเป็นพวกเรา ซึ่งก็คือเอป (ape) หรือลิงใหญ่ไม่มีหาง

ในบรรดาลิงใหญ่ไม่มีหางทั้งหลาย มีแต่สายพันธุ์มนุษย์เท่านั้นที่สามารถเดินได้โดยลำตัวตั้งตรง ท่ายืนและการเคลื่อนไหวของเราเกิดจากการปรับเปลี่ยนทางกายวิภาคหลายครั้งต่อเนื่องกัน รวมถึงกระดูกสันหลังตอนล่างที่โค้งเพื่อสร้างสมดุลให้ท่อนลำตัวที่ตั้งตรง กระดูกเชิงกรานที่ปรับโครงสร้างใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กล้ามเนื้อที่จำเป็นสำหรับการเดิน คอตั้งเป็นแนวดิ่งทำให้ศีรษะวางอยู่เหนือร่างกายพอดี เท้าโค้งและมีส้นเท้ายื่นออกมาอย่างเด่นชัด

เรารู้จักบรรพบุรุษเหล่านี้ผ่านโครงกระดูกแตกหักที่อยู่ในหินอายุราวหกหรือเจ็ดล้านปี แต่สิ่งที่ทำให้เราเข้าใจได้ดีที่สุดคือโครงกระดูกโครงหนึ่งของหญิงสาว ซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีและค้นพบอยู่ในหินอายุ 4.4 ล้านปีที่ประเทศเอธิโอเปีย เธอชื่อ อาร์ดิพิเทคัส รามิดัส (ardipithecus ramidus) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “อาร์ดิ”

เธอแสดงให้เห็นถึงลักษณะหลายอย่างที่ปรากฎอยู่ในบรรพบุรุษร่วมของมนุษย์และลิงชิมแปนซี เธอเป็นนักปีนที่เก่งกาจ คุ้นเคยกับต้นไม้เหมือนเป็นบ้าน แต่อาร์ดิก็ยังเดินทางเสาะหาผลไม้และอาหารอื่น ๆ ในพื้นที่ป่าเปิดด้วย อย่างที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน เสนอแนวคิดไว้เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้วว่า การเคลื่อนที่ด้วยสองเท้าทำให้มือของเธอเป็นอิสระและสามารถทำหน้าที่อื่นได้ ซึ่งต่อมาก็รวมถึงการผลิตและการใช้เครื่องมือ ดังนั้นการเดินด้วยสองเท้าจึงทำให้อาร์ดิและญาติของเธอพัฒนามาเป็นพวกเราในที่สุด

ทั้งหมดนี้คือโลกสี่พันล้านปีใน 8 ภาค ที่จะทำให้คุณเข้าใจโลกในแบบที่เป็นในตอนนี้มากขึ้น !

บทความโดย Sophia

___________________

พบกับ “ประวัติย่อของดาวโลก A Brief History of Earth

เขียนโดย แอนดรูว์ เอช.นอลล์

สำนักพิมพ์ Sophia

สั่งซื้อได้ที่ amarinbooks.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close