ความปลอดภัยของเด็กคือความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ใหญ่

“ทุกสถานที่ล้วนมีความเสี่ยง
และจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น หากสถานที่นั้น
ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรืออันตรายสำหรับเด็ก”

ข่าวอุบัติเหตุเด็กเล็กติดอยู่ในรถจนเป็นอันตรายหรือเสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นทีไรก็ชวนสะเทือนขวัญและสลดใจทุกครั้ง โดยเฉพาะสำหรับใครที่กำลังเลี้ยงดูเด็กน้อยในวัยเดียวกัน แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุแบบนี้กับลูกหลานหรือเด็กๆ ในการดูแลของตนอย่างแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน ข่าวอุบัติเหตุลักษณะนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารรับส่งของโรงเรียนแห่งหนึ่งในบ้านเรา จึงอยากเน้นย้ำว่า ต่อให้เป็นการเดินทางรูปแบบใด หากมีเด็กๆ ร่วมทางด้วยแล้วผู้ใหญ่ต้องตระหนักให้แม่นมั่นว่า ความปลอดภัยของเด็กคือความรับผิดชอบของผู้ใหญ่โดยตรง

“ในการพาลูกโดยสารยานพาหนะต่างๆ ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ หากคุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยทำความเข้าใจถึงข้อปฏิบัติต่างๆ กับลูกก่อนการเดินทางได้ ก็จะช่วยให้ลูกได้เตรียมตัว เตรียมใจ และเข้าใจว่าทำไมเราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้” นายแพทย์ฉัตรชัย อิ่มอารมย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ‘Child Safety ทักษะเอาตัวรอดที่ลูกต้องเรียนรู้’ และยังอธิบายข้อปฏิบัติของการพาเด็กเดินทางโดยสารแบบต่างๆ โดยเน้นย้ำว่าการพูดคุย ทำความเข้าใจ อธิบายเหตุผลที่ต้องทำกับเด็กก่อนเดินทางเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง และผู้ใหญ่เองก็ต้องทำตามสิ่งที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัดด้วย

อย่างการพาลูกโดยสารรถยนต์ (ไม่ว่าจะส่วนตัวหรือไม่) คุณหมอได้อธิบายขั้นตอนและเน้นถึงความสำคัญของที่นั่งนิรภัยหรือ Car Seat ไว้ว่า โปรดใช้ที่นั่งนิรภัยตั้งแต่ครั้งแรกที่ออกจากโรงพยาบาลหลังคลอดและติดตั้งที่เบาะด้านหลังเสมอ ควรใช้ที่นั่งนิรภัยที่เหมาะสมกับช่วงอายุของลูก เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีต้องติดตั้งที่นั่งนิรภัยที่เบาะหลังโดยหันหน้าไปทางหลังรถเสมอ ส่วนเด็กอายุ 2-6 ปีนั้นสามารถติดตั้งที่นั่งนิรภัยแบบหันไปทางหน้ารถได้ตามปกติแต่ยังต้องนั่งอยู่ที่เบาะหลัง ขณะที่เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปแนะนำให้ใช้เป็นเบาะนั่งเสริมเพื่อช่วยให้การคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ไม่รั้งคอเด็ก และควรให้เด็กนั่งที่เบาะด้านหลังจนถึงอายุ 12-13 ปี

สำหรับการโดยสารรถสาธารณะแบบต่างๆ คุณหมอก็มีขั้นตอนปฏิบัติมาแนะนำเช่นกันว่า เมื่อขึ้นไปอยู่บนรถโดยสารแล้วให้เดินเข้าด้านในแล้วหาที่นั่งหรือหาที่จับให้มั่นคงไม่ยืนขวางบันไดหรือประตูทางเข้ารถไม่ยื่นแขน ขา หรืออวัยวะส่วนใดออกนอกตัวรถ พ่อแม่ควรงดใช้เครื่องมือสื่อสารขณะขึ้นหรือลงรถหากรถเต็มควรรอคันต่อไป และสำหรับรถไฟฟ้า เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนประตูกำลังปิดให้หยุดแล้วรอขบวนถัดไป อย่าเร่งเท้าก้าวขึ้นรถ

คุณหมอยังแนะนำผู้ใหญ่ที่ย่อมต้องเกิดความกังวล ไม่สบายใจ เมื่อรับรู้ข่าวอุบัติเหตุต่างๆ เกี่ยวกับเด็กเล็กว่า “ในเมื่อเรารู้แล้วว่าอุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่างๆเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หมอแนะนำว่าเราแค่ระมัดระวังก็พอ อย่างให้ความกังวลใจเหล่านั้นกลายเป็นความหวาดระแวงเลยนะครับ
“สิ่งที่ควรระลึกเสมอๆ เลยก็คือ การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นป้องกันได้ด้วยการตระหนักรู้ของผู้เลี้ยงดู ซึ่งจะนำไปสู่การจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย การเฝ้าระวังที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กๆ มีโอกาสได้เล่น ได้เรียนรู้ และได้สำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างมีความสุข
“พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูจึงจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือความเสี่ยงสำหรับเด็กบ้าง ต้องพอประเมินได้ว่าอะไรเสี่ยงมาก อะไรเสี่ยงน้อย และปล่อยให้เขาได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและสนุกสนาน”

ไม่เพียงเฉพาะคุณพ่อและคุณแม่เท่านั้น ผู้ใหญ่ทุกคนที่มีเด็กเล็กในการดูแลสามารถนำข้อแนะนำเหล่านี้ไปใช้กับเด็กๆ ของตนได้เช่นกัน เพราะไม่ว่าอย่างไร ความปลอดภัยของเด็กก็คือความรับผิดชอบของผู้ใหญ่โดยตรง

นอกจากเราจะสอนให้เขาสามารถดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว เราก็ต่างมีหน้าที่ดูแลพวกเขาให้เติบโตอย่างแข็งแรง ปลอดภัย และมีความสุขเช่นกัน

บทความโดย Amarin Kids


Child Safety ทักษะการเอาตัวรอดที่ลูกควรเรียนรู้

โดย นายแพทย์ฉัตรชัย อิ่มอารมย์

สำนักพิมพ์ Amarin Kids

คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close