“Man’s search for Meaning ชีวิตไม่ไร้ความหมาย” เรื่องราวสะเทือนอารมณ์ บริบทประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 และการหาความหมายของชีวิต

บันทึกเสวนา “Sophia Book Talk”
ณ มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27
16 ตุลาคม 2565

“ในวันที่มนุษย์อยู่ในสภาพต่ำกว่ามนุษย์ เราจะยังเหลืออะไรอีก…”  
ชายผู้อยู่ในสภาพนั้นนานกว่า 3 ปี ยืนยันว่า เรายังเหลือ “เสรีภาพที่จะเลือกจุดยืนต่อสภาพการณ์นั้น”

วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ได้บันทึกความทรงจำจากการถูกขังในค่ายกักกันของนาซี 4 แห่ง เขาสูญเสียครอบครัวทั้งหมดและเกือบเสียจริต ที่นั่นเขาเผชิญจุดต่ำสุดของมนุษย์ทั้งของผู้อื่นและของตนเอง เขาพบว่าในสภาพอันเลวร้ายเหมือนกัน มีทั้งนักโทษที่ภายในแหลกสลาย และนักโทษที่เอาชนะความทุกข์ในใจได้ 

ประสบการณ์นั้นหล่อหลอมความคิดของเขาจนเกิด “ทฤษฎีโลโกเทอราปี” แนวทางการบำบัดจิตที่เชื่อว่าแรงขับขั้นปฐมภูมิของมนุษย์ไม่ใช่การไขว่คว้าความสุข แต่เป็นการแสวงหาความหมายในชีวิต

ในเสวนา “Sophia Book Talk” ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 อ.ดร.ภาณุ ตรัยเวช จากเพจ Our History: เรื่อง เล่า เรา โลก และ คุณวีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์ ได้ร่วมถ่ายทอดประเด็นสะเทือนอารมณ์ในบริบทประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 และการหาความหมายของชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ

เมื่อสงครามและความกระหายชัยชนะอยู่เหนือความเป็นมนุษย์

อ.ดร.ภาณุเล่าถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมเยอรมันยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ว่า เราต่างรู้กันดีว่าในช่วงเวลานั้นเยอรมันปกครองด้วยระบอบเผด็จการภายใต้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และสิ่งหนึ่งที่ฮิตเลอร์ทำและช่วยให้เขาครองอำนาจในเยอรมันได้คือการสร้างความเกลียดชังชาวยิว โดยทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ‘ที่ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมเยอรมันตอนนั้นเลวร้ายเป็นเพราะชาวยิว’ นั่นจึงเป็นที่มาของการเกลียดชังชาวยิวจนนำไปสู่ระบบฟาสซิสม์

แม้การทำสงครามในช่วงแรกจะได้รับชัยชนะ แต่เมื่อการทำสงครามลำบากมากขึ้น ปฏิบัติการเพื่อถล่มอังกฤษไม่สำเร็จ บุกเข้ารัสเซียก็ไม่ได้ จนเริ่มพ่ายแพ้กลับมาและความนิยมในตัวฮิตเลอร์เริ่มเสื่อมลงในเยอรมัน ฮิตเลอร์จึงต้องกลับมาหาชาวยิวอีกครั้ง โดยเริ่มปลุกเร้าให้คนเกลียดชาวยิวมากขึ้นจนนำไปสู่สภาพที่น่าหดหู่เกี่ยวกับค่ายกักกันที่จับตัวชาวยิวไปใช้งานหนัก ปล่อยให้อดอยากจนล้มตาย

วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล จิตแพทย์ชาวออสเตรียและผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือหนึ่งในชาวยิวที่ถูกจับไปยังค่ายกักกันนั้น แต่เขารอดชีวิตออกมาได้ และเป็นที่มาของการมองเห็นอะไรได้หลายอย่างมากกว่าคนทั่วไป

คุณวีรพรได้เสริมเกี่ยวกับหนังสือว่า เล่มนี้ให้ความรู้สึกทิ่มแทงความเป็นมนุษย์สูงมาก ด้วยการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างเรียบมาก ผ่านรายละเอียดทั่วไปของสายตาผู้ที่อยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เราแทบจะเห็นภาพตามผู้เขียน จนเข้าใจว่ามนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้นมันสุดขั้วเกินกว่าประสบการณ์ปกติของมนุษย์ทั่วไปจริงๆ

หนังสือเล่มนี้น่าสนใจตรงที่ผู้เขียนได้สร้าง “ทฤษฎีโลโกเทอราปี (Logotheraphy)” ซึ่งเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาผ่านการเล่าเรื่อง พร้อมบอกว่าทฤษฎีนี้อยู่ตรงไหนเมื่ออ่านพบเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งจะพบว่าการเป็นมนุษย์มันชัดเจนมากขึ้นเมื่อชีวิตตกต่ำที่สุด ไม่มีอาหารกิน ไม่มีแรงเดิน ถูกปฏิบัติเหมือนสัตว์ ซึ่งจุดนี้ผู้เขียนได้สะท้อนถึงความไม่เหลืออะไรของเรา แล้วเราเหลืออะไร…

ทฤษฎีโลโกเทอราปีเป็นการบำบัดจิตใจด้วยเหตุผล เข้าใจเหตุผลที่เรามีชีวิตอยู่ ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ที่มักพาเรากลับไปขุดปมต่างๆ แล้วพยายามจัดการกับปมนั้น แต่ก็ไม่ได้ดีตลอดเวลา ขณะที่ทฤษฎีโลโกเทอราปีมองข้ามทุกสิ่งในชีวิตที่เคยผ่านมา ไม่สนว่าชีวิตจะมีกี่ปม เมื่อไขปมแล้วก็ก้าวไปข้างหน้าเพื่อหาเป้าหมายและความหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ส่งผลให้การรักษาสภาพจิตใจในแนวทางนี้สามารถใช้ได้ผลพอสมควรในกลุ่มคนที่ผ่านเหตุการณ์ในสงคราม

“ความหมายของชีวิต” เริ่มต้นจากการมองหาความหมายในการมีชีวิต

อ.ดร.ภาณุและคุณวีรพรยังแบ่งปันถึงการย้อนมองดูชีวิตที่ผ่านมา เพื่อนึกถึงช่วงชีวิตที่ถามหาความหมายของชีวิตแต่ละคนอีกด้วย

คุณวีรพรได้เล่าย้อนว่าตนเองเป็นเจเนอเรชั่นหลังเจเนอเรชั่นฮิปปี (Hippie) ซึ่งเกิดหลังสงครามโลก หนึ่งในช่วงของบุปผาชนที่ตั้งคำถามว่า ‘เราเกิดมาทำไม?’ ‘เราเกิดมาแล้วมีความหมายอะไร?’ ‘เรามีความสำคัญอะไรในการเดินบนโลกนี้?’ ดังนั้น การเป็นรุ่นหลังฮิปปีจึงทำให้ซึมซับเจตจำนงเหล่านี้จากเพลง ภาพยนตร์และหนังสือต่างๆ และจำความได้ว่าตั้งแต่เล็กจนถึงวัยรุ่นก็เริ่มถามตัวเองว่าเราเกิดมาทำไม เรามีหมายความอะไรไหม เราควรมีชีวิตที่ร่ำรวย มีชีวิตที่มีความรัก มีชีวิตที่มีชื่อเสียง มีชีวิตที่สนุกสนาน ชีวิตที่มีความหมาย เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

เมื่อชีวิตเข้าสู่ช่วงวัยต่างๆ ก็มักตั้งคำถามว่า เป็นแฟน เป็นคู่รัก เป็นภรรยาที่ดีพอหรือไม่ คำถามพวกนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลไกการเป็นแม่ซึ่งมีความน่าสนใจมาก เพราะลูกจะรักแม่จนมีความรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายต่อใครอีกคน พอลูกโตก็มีโอกาสได้เขียนหนังสือจนได้รางวัล นั่นทำให้ก็รู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย สิ่งเหล่านั้นเพียงพอแล้วหรือไม่ ควรทำอะไรดีไหม การตั้งคำถามเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เว้นแต่ถูกสอนไม่ให้ตั้งคำถามเหล่านี้ เพราะคนไทยมักถูกสอนไม่ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ไม่สนใจชีวิต ไม่สดุดีชีวิต ไม่เชิดชูชีวิต ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ทำไม

อ.ดร.ภาณุได้เล่าเสริมเกี่ยวประเด็นนี้ว่า มนุษย์ต้องการสองอย่างในชีวิต อย่างแรกคือความสุข อย่างที่สองคือเป้าหมายของชีวิต ความจริงแล้วสองอย่างนี้แยกกันอยู่ ความสุขก็คือในแต่ละวันชีวิตดีไหม กินอิ่มไหม ได้ออกไปเที่ยวเล่นหรือได้ออกกำลังกายบ้างหรือไม่ ได้รู้สึกว่าทำงานแล้วได้อะไร ไม่ถูกใครด่า นั่นคือความสุขของชีวิตซึ่งสำคัญ ในขณะเดียวกันความหมายของชีวิตก็สำคัญเช่นกัน ความหมายของชีวิตเป็นภาพกว้างกว่านั้น ในอนาคตข้างหน้าเราเกิดมาทำไม หรือตัวเราอยู่ตรงนี้แล้วมีความหมายอะไร

การใช้ชีวิตในค่ายกักกันนาซีย่อมไม่มีความสุขอย่างแน่นอน เราไม่สามารถกินสิ่งที่อยากกินได้ ไม่สามารถไปไหนก็ได้ สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในชีวิตก็คือความหมาย ซึ่งวิกเตอร์ อี. ฟรังเคิลพยายามหาความหมายทุกอย่างที่เขาเจอ โดยเฉพาะตอนที่ต้องไปอยู่ในห้องแสนอึดอัดกับเพื่อนนักโทษ ซึ่งมีรูหน้าต่างเพียงรูเดียว พวกเขาต้องผลัดกันมาดูช่องหน้าต่าง ซึ่งเป็นช่วงพระอาทิตย์ตกดินพอดี ภาพพระอาทิตย์ตกดินตรงหน้าต่างเล็กๆ ที่พวกเขาต้องผลัดกันมองมีความหมายกับชีวิตของพวกเขามากจนทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของชีวิตที่ไม่มีความสุขเลย เพราะไม่สามารถหาความสุขจากไหนได้ แต่นั่นกลับกลายเป็นการสร้างความพยายามในการหาความหมายของชีวิต

สังคมไทยถูกแยกขาดจากการมองหาความหมายของชีวิต

อ.ดร.ภาณุกล่าวถึงการมองหาความหมายชองชีวิตกับคนไทยไว้ว่า คนไทยมักไม่ค่อยตั้งคำถามกับความหมายของชีวิต แม้พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการรับมือกับความสุข วิธีหาความสุข การพ้นทุกข์ การดับทุกข์ แต่เมื่อพูดถึงความหมายของชีวิตกลับเป็นอีกด้านหนึ่งของคนไทย แล้วอะไรคือความหมายของชีวิต? ทำไมต้องมาหาความหมายของชีวิตด้วย? เราใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ ได้หรือไม่? นี่คือสิ่งที่ทำให้หนังสือ ‘Man’s search for Meaning ชีวิตไม่ไร้ความหมาย’ น่าสนใจ เพราะมันดึงผู้คนให้เข้าใจว่าอะไรคือความหมายของชีวิต และส่วนตัวคิดว่าความหมายของชีวิตแยกจากเรื่องศาสนาไม่ออก

คุณวีรพรกล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิลได้ย้ำว่า ถ้าคุณยึดมั่นกับความสุข สิ่งที่เกิดขึ้นคือความทุกข์ซึ่งจะทำลายคุณเป็นผุยผง มีคนจำนวนมากในค่ายกักกันที่อยู่รอดไม่ได้ เพราะไม่สามารถทนกับความทุกข์เหล่านั้นได้ แต่เป้าหมายคือสิ่งที่จะพาพวกเข้าก้าวข้ามผ่านไปได้

น่าสังเกตว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการมีเงินอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เขาแสวงหากลับกลายเป็นชีวิตที่มีหมายความ การมีความหมายของตัวเอง ซึ่งแปลกมาก สิ่งนี้เริ่มมีมาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็น Hipster หรือ Slow Life หรืออะไรก็แล้วแต่ พวกเขาไม่ได้แค่แต่งตัวเป็นฮิปสเตอร์เก๋ๆ แค่นั้น พวกเขานั่งดริปกาแฟ กาแฟก็ไม่ใช่แค่เก๋ มันคือการใช้เวลา การละเลียด และยังเป็นการถามหาว่าเรามาอยู่ตรงนี้ เวลานี้ ต่อหน้ากาแฟที่กำลังหยด คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้มีทัศนคติเปลี่ยนไปแล้ว แน่นอนว่า ‘Man’s search for Meaning ชีวิตไม่ไร้ความหมาย’ จะถูกอ่านซ้ำมากขึ้น เพราะผู้คนไม่สนใจว่าจะรวยในพริบตาได้อย่างไร เพราะยุคของพ่อแม่พวกเขาได้ให้คำตอบเหล่านั้นไว้หมดแล้ว

อ.ดร.ภาณุได้กล่าวปิดท้ายว่า การสับสนเรื่องความหมายของชีวิตนั้นมนุษย์ย่อมเคยเป็นกันทุกคน ชีวิตที่ไม่เคยเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันก็ต้องเคยสิ้นหวัง หากถามว่าอะไรคือความหมายของชีวิตก็ต้องย้อนทวนว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราจะอยู่ไปเพื่ออะไร การมองเห็นภาพกว้างว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของโลก สิ่งนี้ก็คือความหมายของชีวิตได้เช่นกัน

ไม่ใช่ทุกคนที่อยากหาความหมายของชีวิตแล้วต้องอ่านหนังสือ ‘Man’s search for Meaning ชีวิตไม่ไร้ความหมาย’ แต่หนังสือเล่มนี้จะช่วยทบทวนให้เราย้อนกลับไปหาตัวเรา ซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีคำตอบให้ทุกอย่าง แต่เต็มไปด้วยคำถามที่จะพาเราไปไกลกว่าที่คิด

นี่คือหนังสือเล่มเล็กๆ อันทรงพลัง

บันทึกโดย Sophia


Man’s search for Meaning
ชีวิตไม่ไร้ความหมาย
วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล เขียน
นพมาส แววหงส์ แปล

คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close