ฝึกจัดการกับอารมณ์ลบ ไม่ให้เผลอ “น็อตหลุด” ใส่ลูก

ในยุคปัจจุบันที่พบเจอข่าวชวนสะเทือนใจแทบทุกวัน รวมถึงความตึงเครียดจากชีวิตประจำวัน อาจทำให้พ่อแม่หลายคนเกิดความเครียดสะสม กระตุ้นให้ระเบิดอารมณ์หรือ “น็อตหลุด” ใส่ลูกได้ เรื่องเหล่านี้ย่อมไม่ดีทั้งต่อลูกน้อยและต่อตัวคุณพ่อคุณแม่เองแน่นอนค่ะ แต่ใช่ว่าจะไร้ทางออกเสียทีเดียว การฝึกจัดการอารมณ์ช่วยให้รับมือกับตัวกระตุ้นความเครียดได้ดี เป็นผลดีทั้งต่อตัวพ่อแม่ ลูกน้อย และความสัมพันธ์ในครอบครัวค่ะ

จากหนังสือ จัดการอารมณ์พ่อแม่ = ดูแลอารมณ์ลูก ดร. คาร์ลา นาล์มเบิร์ก กล่าวถึงการจัดการสมดุลทางอารมณ์ไม่ให้เผลอระเบิดอารมณ์ใส่ลูกไว้ว่า พ่อแม่มีสิทธิ์เต็มที่ที่จะกลัว กังวล เครียด ขณะเดียวกันก็สามารถบอกลูกอย่างตรงไปตรงมาได้ค่ะว่าตอนนี้พ่อหรือแม่กำลังมีอารมณ์รุนแรงอยู่ข้างใน โดยไม่ต้องระเบิดอารมณ์ก้อนนั้นออกมาให้เขาเห็น ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามแต่อย่างใด

ดร. คาร์ลายังอธิบายถึงการไม่ระเบิดอารมณ์หรือไม่น็อตหลุดในมุมมองใหม่ว่า ไม่ได้หมายถึงการเก็บงำอารมณ์ ทำตัวสงบ ใจเย็น และพูดคุยกับลูกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มตลอดเวลา เพราะนั่นคือแนวคิดของความสมบูรณ์แบบซึ่งไม่เป็นผลดีนัก แต่การไม่นอตหลุดเป็นเรื่องของสติและการรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองของพ่อแม่โดยตรง

“เป็นการที่เรามีสติรู้ตัวถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเราและรอบๆ ตัวเรา เพื่อจะได้เลือกว่าเราจะอยู่เฉยๆ หรือปิดปากเงียบและไม่เถียงกลับด้วยอารมณ์”

ดร. คาร์ลา แนะนำขั้นตอนของการฝึกจัดการกับอารมณ์ลบ 3 ขั้นตอนสำคัญ ตามลำดับการจัดการความคิดและพฤติกรรมค่ะ
ขั้นตอนที่ 1 มีสติรู้ตัว สติคือตัวเบรกชั้นดีที่จะหยุดพ่อแม่ไม่ให้ระเบิดอารมณ์ออกมาเมื่อเจอความเครียดและความกังวลใจกระตุ้นค่ะ
ขั้นตอนที่ 2 พักก่อน หยุดพักจากสิ่งที่กำลังทำขณะนั้น ไม่มีกำหนดเวลาขั้นต่ำของการพัก ขอเพียงได้หยุดพักสักครู่ เป็นการให้เวลาและให้พื้นที่กับตัวเอง
ขั้นตอนที่ 3 หนีไปทำอย่างอื่น หันไปทำอะไรอย่างอื่นเพื่อให้ตัวเองใจเย็นลง หยุดความตึงเครียดขณะนั้น และโยกย้ายพลังความเครียดที่เกิดขึ้นไปที่อื่น หากไม่รู้จะทำอะไร นั่งนิ่งๆ แล้วหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ ก็ได้ผลดีค่ะ

ท่ามกลางข่าวสารและเหตุการณ์ที่พร้อมกระตุ้นความกังวลใจเกี่ยวกับลูกน้อย
หากคุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันและจัดการอารมณ์ของตัวเองได้
ย่อมเป็นผลดีต่อตัวเอง และทำให้ทุกคนในบ้านหัวใจแข็งแรงไปด้วยกันค่ะ

บทความโดย Amarin Kids


เรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ผ่านหนังสือ

จัดการอารมณ์พ่อแม่ = ดูแลอารมณ์ลูก
โดย ดร.คาร์ลา บาล์มเบิร์ก
แปลโดย วโรดม วณิชศิลป์

ได้แล้วที่นี่

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close