ทำไมคู่รักถึงนอกใจกัน ?
ทำไมเสียใจเวลาซื้อของที่อยากได้มานาน ?
ทำไมคุยเรื่องการเมืองแล้วหาจุดลงตัวไม่ได้ ?
ทำไมความต้องการจึงเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด ?
คำตอบอยู่ที่ “โดพามีน” สารสื่อประสาทในสมองของมนุษย์ ซึ่งเป็นที่มาของพฤติกรรมและความคิดความเชื่อเกือบทั้งหมดของคนคนหนึ่ง
เราขอนำ 3 เรื่องของโดพามีนที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างน่าเหลือเชื่อ มาชวนคุณทำความรู้จักสารสื่อประสาทประเภทนี้ให้มากขึ้น แล้วคุณจะเข้าใจทุกพฤติกรรมของตัวเองและคนรอบตัว
โดพามีนพาคุณขึ้นเตียง…แต่ก็เป็นตัวขัดอารมณ์คุณ
เพศสัมพันธ์เริ่มต้นจากความต้องการ เป็นปรากฏการณ์ของโดพามีนที่กระตุ้นโดยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ตามมาด้วยการปลุกเร้าซึ่งทำให้เรามุ่งหวังไปยังอนาคต ซึ่งเกิดจากโดพามีนเช่นกัน
เมื่อการสัมผัสทางกายเริ่มขึ้น สมองจะเปลี่ยนการควบคุมไปสู่สารสื่อประสาทเอชแอนด์เอนโดยหลั่งเอนดอร์ฟินออกมาเป็นส่วนใหญ่เพื่อสร้างความพึงพอใจจากการสัมผัส ความสำเร็จของกระบวนการหรือจุดสุดยอดทางเพศเกือบทั้งหมดคือการรับรู้ ณ ที่นั้น ขณะนั้น ซึ่งเกิดจากการที่เอนดอร์ฟินและสารสื่อประสาทอื่นๆ ในกลุ่มเอชแอนด์เอนทำงานร่วมกันเพื่อหยุดการทำงานของโดพามีน กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ถูกตรวจจับผ่านกล้องตรวจ นักวิจัยในเนเธอร์แลนด์ติดเครื่องสแกนสมองในผู้ชายและผู้หญิงแล้วกระตุ้นให้เกิดจุดสุดยอดทางเพศ การทดลองครั้งนั้นเครื่องสแกนแสดงให้เห็นว่าจุดสุดยอดทางเพศของมนุษย์สัมพันธ์กับภาวะที่เปลือกสมองส่วนพรีฟรอนทัลหรือสมองส่วนหน้าผากด้านหน้าทำงานลดลง สมองส่วนดังกล่าวเป็นส่วนที่ใช้โดพามีนและมีหน้าที่ในการวางข้อกำหนดเกี่ยวกับพฤติกรรม การผ่อนคลายจากการควบคุมนี้ทำให้วงจรเอชแอนด์เอนที่จำเป็นสำหรับจุดสุดยอดทางเพศทำงาน ไม่ว่าคนที่ถูกทดสอบจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ให้ผลไม่ต่างกัน จะมีข้อยกเว้นก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่โดยทั่วไปการตอบสนองของสมองต่อจุดสุดยอดทางเพศจะเหมือนกัน คือ โดพามีนหยุดทำงาน แล้วเอชแอนด์เอนทำงาน
นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น
แต่ก็เช่นเดียวกับบางคนที่เปลี่ยนจากความรักดูดดื่มไปเป็นความรักแบบเป็นคู่ชีวิตได้ยาก คนที่ขับเคลื่อนด้วยโดพามีนก็อาจปล่อยให้เอชแอนด์เอนทำงานเพิ่มขึ้นระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ได้ยากเช่นกัน ผู้หญิงและผู้ชายที่ปรารถนาจะประสบความสำเร็จในชีวิตมาก บางครั้งจะพบว่าการหยุดความคิดแล้วรับรู้กับสัมผัสแห่งความใกล้ชิด หรือหยุดคิดและรู้สึกให้มากขึ้นนั้นเป็นเรื่องยาก เมื่อสารสื่อประสาทเอชแอนด์เอนทำให้เรารับรู้ความเป็นจริง และความเป็นจริงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์นั้นเข้มข้นมาก โดพามีนจึงพาเราลอยเหนือความจริง สร้างภาพฝันที่ดีกว่า และเพื่อเพิ่มความเย้ายวนเข้าไป โดพามีนจะทำให้เราเข้าไปอยู่ในการควบคุมของความเป็นจริงที่ต่างออกไป
โลกแห่งจินตนาการนั้นแม้จะไม่มีอยู่จริงก็ไม่สำคัญ โดพามีนทำให้เราไล่ตามภาพลวงได้เสมอ
“ความฝัน” ที่ที่ความคิดสร้างสรรค์และความบ้ารวมตัวกัน
น้อยคนนักในหมู่พวกเราที่จะเป็นอัจฉริยะหรือคนบ้า แต่พวกเราทุกคนล้วนเคยอยู่ตรงกึ่งกลางของสภาวะทั้งสองนี้ นั่นคือตอนที่ฝัน
โดพามีนหลั่งออกมาระหว่างฝัน และเป็นอิสระจากอิทธิพลของสารสื่อประสาทเอชแอนด์เอนที่มุ่งเน้นความจริง การทำงานในวงจรเอชแอนด์เอนถูกกดเพราะการสัมผัสรับรู้จากโลกภายนอกที่จะเข้ามาในสมองถูกปิดกั้น อิสรภาพนี้ทำให้วงจรโดพามีนสร้างการเชื่อมโยงอันแปลกประหลาดที่เป็นจุดเด่นของความฝัน สิ่งที่ไม่สำคัญ ไม่ได้รับการสังเกต และเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด จึงสามารถเลื่อนตำแหน่งมาเป็นสิ่งสำคัญได้ ทำให้เราเกิดความคิดใหม่ๆ ที่แทบจะคิดออกมาไม่ได้หากไม่ใช่ในความฝัน
โดพามีนกระตุ้นความฉลาด ความคิดสร้างสรรค์และความขยัน…แต่ก็ทำให้คนมีพฤติกรรมแปลก ๆ
คนที่เป็นโรคไบโพลาร์จะมีช่วงที่ซึมเศร้าเมื่ออารมณ์ไม่ดีผิดปกติและมีช่วงเมเนียเมื่ออารมณ์ดีผิดปกติ ความกระตือรือร้นมากเกินนี้เกี่ยวข้องกับระดับโดพามีนที่สูง ซึ่งไม่น่าประหลาดใจเมื่อพิจารณาจากอาการของช่วงอาการอารมณ์ดีผิดปกติที่ทำให้ผู้ป่วยมีพละกำลังมาก อารมณ์เคลิ้มสุข ความคิดโลดแล่นกระโดดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งอย่างรวดเร็ว มีกิจกรรมหลายอย่างที่อยากทำเพื่อไปสู่เป้าหมายหลายประการในคราวเดียว และเข้าไปข้องเกี่ยวในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงมากเกินไป เพื่อมองหาความสุขใจ
คนดังที่มีความคิดสร้างสรรค์หลายคนเปิดเผยว่าตนป่วยเป็นไบโพลาร์ เช่น ฟรานซิส ฟอร์ดา บริตนีย์ สเปียรส์ แคเธอรีน ซีต้า-โจนส์ บางคนอาจมองว่าสมองที่พิเศษนี้เหมือนกับรถสปอร์ตที่มีสมรรถนะสูง ทำให้สามารถทำหลายสิ่งที่เหลือเชื่อได้ แต่ก็พังได้ง่าย
การทำงานของโดพามีนที่มากเกินไปไม่ใช่ปัญหาเดียวของภาวะเมเนียในไบโพลาร์ แต่ก็มีส่วนอยู่มาก อาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการทำงานของอัลลีลตัวรับ ดีอาร์ดี 4 ที่มากเกินไป แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากปัญหาของส่วนที่เรียกว่า “ตัวขนส่งโดพามีน” ตัวขนส่งโดพามีนเป็นเหมือนเครื่องดูดฝุ่น ซึ่งคอยทำหน้าที่จำกัดเวลาที่โดพามีนใช้ในการกระตุ้นเซลล์รอบ ๆ เมื่อเซลล์ที่ผลิตโดพามีนทำงาน ก็จะหลั่งโดพามีนที่เก็บไว้ออกมา ซึ่งจะไปจับกับตัวรับที่เซลล์สมองเซลล์อื่น จากนั้นเพื่อให้ปฏิกิริยาสิ้นสุดลง ตัวขนส่งโดพามีนจะดูดโดพามีนกลับเข้าไปในเซลล์ที่มันออกมา เพื่อให้กระบวนการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งได้ ตัวขนส่งนี้ บางครั้งเรียกว่าตัวสูบกลับ (Reuptake Pump) เนื่องจากทำหน้าที่สูบโดพามีนกลับเข้าสู่เซลล์
จะเกิดอะไรขึ้นหากตัวขนส่งทำงานไม่ปกติ? เราตอบคำถามนี้ได้จากการสังเกตพฤติกรรมของคนที่ใช้โคเคน โคเคนขัดขวางตัวขนส่งโดพามีนเหมือนกับถุงเท้าที่ถูกดูดเข้าไปในท่อของเครื่องดูดฝุ่น ทำให้โดพามีนทำปฏิกิริยากับตัวรับซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งส่งผลให้คนคนนั้นมีพลังเพิ่มขึ้น มีแรงผลักดันที่จะทำเพื่อเป้าหมายมากขึ้นและเกิดความต้องการทางเพศ พวกเขาอาจรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เปี่ยมสุขมากขึ้น หรือมีความคิดโลดแล่นจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่งอย่างรวดเร็ว การติดโคเคนนั้นคล้ายกับภาวะเมเนียมากจนแพทย์แยกภาวะทั้งสองได้ยาก
บทความโดย Sophia
ค้นพบความอัศจรรย์อื่นๆ ของโดพามีนผ่านหนังสือ
The Molecule of More
โมเลกุลแห่งความพอใจที่ไม่พอจริง
Daniel Z. Lieberman, MD
และ Michael E. Long เขียน
นที สาครยุทธเดช แปล
คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย