
เหตุการณ์การลุกฮือที่ควังจู หรือที่รู้จักในชื่อ การลุกฮือประชาธิปไตย 18 พฤษภาคม เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1980 ที่เมืองควังจู ประเทศเกาหลีใต้ หลังจากประชาชนเกาหลีใต้สะสมความไม่พอใจต่อนายพลช็อนดูฮวัน ซึ่งทำรัฐประหารเงียบ ยึดอำนาจกองทัพ และเริ่มรวบอำนาจทางการเมืองเข้าสู่มือของตนเองอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ช่วงปลาย ค.ศ. 1979 และหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ช็อนดูฮวันทั้งสั่งปิดรัฐสภา ควบคุมสื่อ และจับกุมผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยหลายคน พร้อมกับประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1980
ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติควังจูออกมาร่วมประท้วงต่อต้านการปิดมหาวิทยาลัยและการใช้อำนาจเผด็จการทหาร ทหารที่ถูกส่งมาปราบปรามได้ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น การตี ซ้อม จับกุม และสังหารนักศึกษาและประชาชน ความโกรธแค้นจึงขยายตัวไปยังประชาชนทั่วไป ชาวเมืองควังจูจึงลุกขึ้นสู้ร่วมกับนักศึกษา และจัดตั้งกองกำลังประชาชนเพื่อป้องกันตนเองจากการโจมตีของทหาร แม้ประชาชนจะควบคุมเมืองได้ถึง 6 วัน แต่ในที่สุด กองทัพก็นำรถถังและอาวุธหนักเข้าปราบปรามจนสิ้นสุดการลุกฮือในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1980
รัฐบาลทหารในขณะนั้นพยายามปิดข่าว ป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็น “พวกก่อจลาจล” และควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด โดย ณ เวลานั้น แทบไม่มีใครในเกาหลีรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ควังจู ทั้งเมืองถูกปิดล้อม ถนนทุกสายที่มุ่งเข้าเมืองถูกปิดกั้น โทรศัพท์และเครือข่ายการติดต่ออื่นๆ ถูกตัดขาด สถานีวิทยุและโทรทัศน์ออกอากาศประกาศข้อความที่มีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาล จำนวนผู้เสียชีวิตแน่ชัดยังเป็นที่ถกเถียง แต่คาดกันว่าอาจอยู่ที่หลักหลายร้อยไปจนถึงพันคน
เวลาผ่านไปหลายสิบปี เหตุการณ์ที่จบลงด้วยความรุนแรงและการสูญเสียนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ปลุกเร้าขบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ตลอดทศวรรษ 1980 และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศในระยะยาว ทั้งในฐานะบทเรียนที่เตือนใจรัฐบาลทุกยุคถึงผลกระทบจากการใช้กำลังทางทหารต่อประชาชน และความตื่นตัวของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองภายใต้สังคมประชาธิปไตย แต่ถึงอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ของเรื่องราวนี้ก็ยังไม่ถูกชำระอย่างหมดจด แม้ชาวเกาหลีใต้เริ่มออกมาแสดงพลังให้รัฐบาลสอบสวนความผิดต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในภายหลัง จนทำให้นายช็อนดูฮวันถูกจับกุมและได้รับการพิพากษาประหารชีวิต แต่สุดท้ายเขาก็ได้รับการอภัยโทษ รัฐบาลยังคงแสดงท่าทีบ่ายเบี่ยงที่จะค้นหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ กระทั่งปัจจุบันก็ยังเป็นประเด็นอ่อนไหวในการเมืองเกาหลีและมีคนบางกลุ่มพยายามบิดเบือนหรือปฏิเสธความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้
ไม่เพียงแต่เป็นวรรณกรรมชั้นยอด มนุษยทำ ของฮันกัง ยังนับเป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานและความพยายามในการ “ทวงคืนเสียง” ที่ถูกกลืนหายไป ระหว่างเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้ความจริง ความกลัว ความกล้าหาญ และความสูญเสียถูกกลบฝัง งานเขียนเล่มนี้จึงเป็นบันทึกความทรงจำและเรื่องราวของผู้คนจากเหตุการณ์นั้น ไปพร้อมๆ กับตั้งคำถามสำคัญกับนักอ่านทั่วโลกผ่านเรื่องราวอันทรงพลัง นั่นคือคำถามที่ว่า ท้ายที่สุดแล้วแก่นแท้ของมนุษย์คืออะไร และเราควรจดจำประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อกันนี้อย่างไร

“Human Acts” ในฐานะชื่อสากลของนิยายเล่มนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกพร้อมกับประวัติศาสตร์เหตุการณ์ Gwangju Uprising และนักเขียนที่ชื่อฮันกัง และตามมาด้วยการตีความหลากหลายจากเหล่านักอ่าน นักวิจารณ์ และนักวิชาการทั่วโลก
คำว่า “Human Acts” ถูกตีความถึงความรุนแรงในเรื่องราวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากภูตผีปีศาจหรือเหล่าร้าย หากแต่มาจากน้ำมือของ “มนุษย์” ธรรมดาๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน รวมไปถึงการตีความเชื่อมโยงถึงแก่นเรื่อง ว่าด้วย “ธรรมชาติของมนุษย์” ว่าแท้จริงแล้วคือความรุนแรงหรือสิ่งใด ผ่านการสำรวจประเด็นและประสบการณ์ของมนุษย์ในเรื่องราว ทั้งการลดทอนความเป็นมนุษย์ ความศรัทธา ความหวัง ความเจ็บปวด โดย เดโบราห์ สมิธ (Deborah Smith) ผู้แปลผลงานนี้สู่โลกภาษาอังกฤษได้บอกไว้ว่า เธอเลือกใช้ชื่อ Human Acts เพื่อสื่อถึงการกระทำของมนุษย์ ทั้งในด้านที่โหดร้ายและด้านที่เมตตา และอธิบายว่า ชื่อดังกล่าวสะท้อนถึงความธรรมดาและความซับซ้อนของการกระทำของมนุษย์ในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย
ในบทสัมภาษณ์ของ The New Yorker เธอเล่าว่าแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้และตัวละครเด็กชายคังดงโฮนั้นมาจากเด็กชายคนหนึ่งที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ควังจู ซึ่งเป็นนักเรียนของพ่อเธอเอง และด้วยเรื่องราวในนวนิยายที่เริ่มต้นและแวดล้อมด้วยผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเขาผู้จากไป เราจึงอาจตีความชื่อต้นฉบับภาษาเกาหลี 소년이 온다 ซึ่งแปลตรงตัวว่า “เด็กชายกำลังมา” นั้นสื่อถึงทั้งวิญญาณของเด็กชายที่ยังคงปรากฏอยู่ในความทรงจำและจิตใจของผู้คน และการกลับมาของความทรงจำและวิญญาณของผู้ที่จากไปในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งยังคงมีอิทธิพลต่อผู้คนและสังคมปัจจุบัน ขณะที่นักอ่านบางส่วนก็ตีความว่า เด็กชายที่ “กำลังมา” ในเรื่องราวนั้น คือเสียงของความทรงจำและบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่หวนกลับมาให้เราเผชิญหน้าอีกครั้ง แม้จะเคยถูกกลบฝัง ทำให้เงียบงัน และพยายามทำให้ผู้คนลืมเลือน สอดคล้องกับที่ฮันกังได้กล่าวไว้ในบทบรรยาย Nobel Lecture ของเธอตอนหนึ่งว่า “ในห้วงขณะที่ 소년 — เด็กชาย — ซึ่งถูกเรียกด้วยบุรุษที่สองว่า ‘คุณ’ ไม่ว่าจะเป็นคำเรียกที่สนิทหรือห่างเหิน เขาก็จะตื่นขึ้นมาในแสงสลัว และเดินเข้าหา ‘ปัจจุบัน’ ก้าวเท้าของเขาเป็นก้าวของวิญญาณ เขาเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็น ‘ตอนนี้’ เมื่อช่วงเวลาและสถานที่ที่ความโหดร้ายกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ดำรงอยู่เคียงกันอย่างสุดขั้ว ชื่อที่ถูกเรียกว่า “ควังจู” นั้นก็จะไม่ใช่นามเฉพาะของเมืองหนึ่งอีกต่อไป แต่กลายเป็นคำนามสามัญ — อย่างที่ฉันได้เรียนรู้ระหว่างการเขียนหนังสือเล่มนี้
มันจะ ‘มา’ หาพวกเรา — ซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านกาลเวลาและสถานที่
– ฮันกังบทสัมภาษณ์ของ The New Yorker
และมันจะมาเสมอในรูปปัจจุบัน
แม้แต่ในขณะนี้เองก็ตาม “
และในฉบับภาษาไทย ชื่อ “มนุษยทำ” ซึ่งมาจากความตั้งใจของผู้แปล (อภิชญา บุญรินทร์) ก็ตั้งใจจะสื่อสารเพื่อเก็บความหมายจากทั้งชื่อต้นฉบับและชื่อในฉบับภาษาอังกฤษเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมกับสอดแทรกความหมาย คำถาม และมวลอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับคำพ้องในภาษาไทยอย่าง “ธรรม” กับ “ทำ” อย่างน่าทึ่ง เนื่องจากการประสมคำสมาส “มนุษย+ทำ” ที่ขัดกับหลักไวยากรณ์ไทย (คำสมาส จะต้องมาจากการประสมระหว่างคำบาลีสันสกฤตเท่านั้น ดังคำว่า มนุษย+ธรรม) อีกทั้งการเลือกคำพ้องเสียงที่มีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง นำไปสู่การแปรเปลี่ยน “มนุษยธรรม” เป็น “มนุษยทำ” และเปิดพื้นที่ตีความระหว่างตัวอักษรไว้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการเผยความขัดแย้งในตัวมนุษย์ผ่านคำและไวยากรณ์ที่ผิดแปลกจากความคุ้นเคย ไปจนถึงการตีความเสียดเย้ยการกระทำของมนุษย์และภาวะที่มนุษย์ไร้มนุษยธรรม จนเลือกใช้ความรุนแรงและทำลายความเป็นมนุษย์ของกันและกันไปเรื่อยๆ

ฮันกังได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของ Nobel Lecture ของเธอว่า เดิมทีเธอไม่เคยคิดจะเขียนเกี่ยวกับควังจูมาก่อน จะเคยอาศัยอยู่ที่นั่นในวัยเด็กและย้ายออกก่อนเหตุการณ์จะเริ่มต้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอได้พบกับ Gwangju Photo Book ซึ่งรวบรวมภาพถ่ายของผู้จากไปในเหตุการณ์ Gwangju Uprising และภาพเหล่านั้นก็นำมาซึ่งคำถามในใจเกี่ยวกับมนุษย์ว่า “นี่คือการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์จริงหรือ” ทว่าหลังจากนั้น ภาพผู้คนที่ไม่รู้จักมาร่วมต่อแถวบริจาคเลือดหน้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยก็ทำให้เธอต้องตั้งคำถามเดียวกันอีกครั้งในทางกลับกัน “นี่คือการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์จริงหรือ”
คำถามนี้ยังคงวนเวียนและขัดแย้งกันในใจของฮันกัง และเมื่อเธอต้องต่อสู้กับการยืนยันคุณค่าของมนุษย์ไปพร้อมๆ กับความสูญเสียศรัทธาต่อมนุษย์ การลงมือเขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาจึงเปรียบเสมือนหนทางเดียวในการฝ่าฟันคำถามที่ยังไม่คลี่คลาย ตลอดเวลาหลายเดือนในการศึกษาคำให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ควังจูและความรุนแรงในอดีตของมนุษย์ เธอหวนกลับไปนึกถึงคำถามของตัวเองในวัยสาวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็น “ปัจจุบันช่วยอดีตได้หรือไม่” หรือ “คนที่มีชีวิตอยู่จะช่วยคนที่จากไปได้หรือเปล่า” ทว่ากลับจมลงไปในความสิ้นหวังและสูญเสียศรัทธาต่อมนุษย์ลงไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเธอได้อ่านบันทึกของพัคยงจุน หนึ่งในเด็กหนุ่มที่จากไปในเหตุการณ์ ผู้เลือกตัดสินใจยืนหยัดจนนาทีสุดท้ายแม้รู้ทั้งรู้ว่าทหารจะกลับมาและตนจะไม่รอดชีวิต ฮันกังจึงตระหนักในนาทีนั้นเองว่าเธอต้องกลับด้านคำถามในใจตัวเองเสียใหม่ เป็น “ปัจจุบันช่วยอดีตได้ไหม” และ “คนที่จากไปจะช่วยคนที่ยังอยู่ได้หรือเปล่า” และคำถามเหล่านี้ก็เปลี่ยนทิศทางการเขียนของเธอและนำมาซึ่งนิยายเล่มนี้ ผลงานอันทรงพลังที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าอดีตสามารถช่วยปัจจุบันได้อย่างไรและคนที่จากไปจะสามารถช่วยคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ท้ายที่สุดแล้ว แม้หนังสือเล่มนี้และฮันกังเองอาจไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า “สิ่งที่เรียกว่ามนุษยชาติคืออะไรกันแน่” แต่กลับถ่ายทอดให้เห็นอย่างชัดเจนเหลือเกินว่า มนุษย์นั้นอาจโหดร้ายรุนแรงได้เกินจินตนาการ แต่ก็เป็นมนุษย์เองเช่นกันที่ทั้งอ่อนโยนและเข้มแข็งมากเกินจะคาดเดา มากพอจะยืนหยัดส่องสว่างเผชิญหน้าความรุนแรง ความกลัว และความตายได้อย่างสง่างามเพียงใด
Nobel Lecture ของฮันกัง: https://www.nobelprize.org/prizes/literature/2024/han/lecture/

ในขณะที่ “เดอะเวเจอเทเรียน” ตั้งคำถามสำคัญต่อความเจ็บปวดและการพยายามหลีกหนีความรุนแรงไปพร้อมกับความเป็นมนุษย์ และถ่ายทอดมันออกมาผ่านเรื่องราวสามตอนที่เย็นเยียบ ดิบหลอนสุดโต่ง และสัญลักษณ์นามธรรมมากมายที่สั่นเร้าความอึดอัดและความวิตกกังวล ฮันกังกลับเลือกถ่ายทอดความซับซ้อนของประวัติศาสตร์บาดแผลของเกาหลีใต้ในนวนิยายเรื่อง “มนุษยทำ” ผ่านถ้อยคำเรียบง่าย เธอฉายทั้งภาพความป่าเถื่อนโหดร้ายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันสว่างไสวเรืองรองไปพร้อมกันอย่างน่าอัศจรรย์ผ่านมุมมองของตัวละครทั้งเจ็ด ตั้งแต่คนที่จากไป จนถึงคนที่ยังอยู่ และตัวเธอเองในฐานะนักเขียน โดยที่เวลาไม่ได้ดำเนินไปอย่างเป็นเส้นตรง หากแต่ตัดสลับกระจัดกระจาย ให้เราค่อยๆ ได้รวบรวมชิ้นส่วนความทรงจำที่ขาดหายไปในเรื่องราวแล้วประกอบใหม่ด้วยตัวเอง ขณะที่เธอเลือก “ละอัญประกาศ” หรือไม่ใส่เครื่องหมายคำพูดใดๆ ตลอดเรื่องราวในนวนิยายเล่มนี้ ขับเน้นให้เรื่องราวยิ่งทรงพลังขึ้น เพราะเมื่อปราศจากเครื่องหมาย บทสนทนาและความคิดของตัวละครที่เคลื่อนไหลไร้ต้นไร้ปลายจึงดูเหมือนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
อีกประเด็นซึ่งเป็นที่กล่าวถึงกว้างขวางคือการที่เธอเลือกใช้สรรพนาม “คุณ” เมื่อเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของวิญญาณเด็กชายดงโฮ ผู้จากไปในเหตุการณ์ควังจู ซึ่งเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักอ่านว่าสรรพนามนี้มาจากความตั้งใจแบบไหน เป็นการแทนนักอ่านเข้าไปในเรื่องราวหรือมีนัยสำคัญอื่นๆ โดยฮันกังได้เคยให้คำตอบในบทสัมภาษณ์กับ “The White Review” เอาไว้ว่า “คำว่า ‘คุณ’ ในสรรพนามบุรุษที่สองคือการเรียกบุคคลหนึ่งโดย ‘ฉัน’ ซึ่งแตกต่างจากผู้บรรยายบุรุษที่สาม การเรียก ‘คุณ’ นี้จะทำให้คุณมีตัวตนในเวลาและสถานที่ที่ ‘ฉัน’ อาศัยอยู่ แม้ว่าเด็กชายดงโฮวัยสิบห้าปีจะไม่สามารถรอดชีวิตจากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 1980 ได้ แต่การเรียกชื่อเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะทำให้เขาปรากฏตัวขึ้นที่นี่ ฝ่าผิวของความมืดและแทรกซึมเข้าสู่ปัจจุบัน”
บทสัมภาษณ์จาก White Review: https://www.thewhitereview.org/feature/interview-with-han-kang/

หลังจากที่ฮันกังได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อเดือนตุลาคม 2024 ยอดขายหนังสือของเธอในเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Human Acts และ The Vegetarian โดยในวันรุ่งขึ้นหลังจากการประกาศรางวัล มีรายงานว่าหนังสือของฮันกังขายหมดเกลี้ยงในร้านหนังสือใหญ่ๆ เช่น Kyobo Book Centre และ Yes24 โดยมีการขายมากกว่า 130,000 เล่มในเวลาไม่ถึงครึ่งวัน Human Acts มียอดขายเพิ่มขึ้น 784 เท่า และ The Vegetarian เพิ่มขึ้น 696 เท่าเมื่อเทียบกับวันก่อนการประกาศรางวัล
ภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น ยอดขายรวมของหนังสือฮันกังในเกาหลีใต้เกิน 1 ล้านเล่ม โดยมีการรายงานว่า Kyobo Book Centre ขายได้ประมาณ 260,000 เล่ม และ Yes24 ประมาณ 270,000 เล่ม และภายในช่วงสองเดือนหลังจากการประกาศรางวัล Human Acts ขึ้นอันดับหนึ่งในรายชื่อหนังสือขายดีทั้งใน Kyobo Book Centre และ Yes24 โดยมีรายงานว่า Human Acts มียอดขายสูงสุดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 ที่ Kyobo Book Centre
ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า “Han Kang Fever” โดยมีผู้คนจำนวนมากเข้าคิวซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือ และเว็บไซต์ของร้านหนังสือใหญ่ ๆ มักจะล่มเนื่องจากความต้องการที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม การได้รับรางวัลโนเบลของฮันกังไม่เพียงแต่เพิ่มยอดขายหนังสือของ แต่ยังส่งผลให้เกิดกระแสการอ่านหนังสือในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมๆ กับความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ โดยมีรายงานว่า ในช่วงปลายปี 2024 ซึ่งเกิดกระแสการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีในเกาหลีใต้ ศิลปินไอดอลได้ถ่ายภาพหนังสือ Human Acts ในโซเชียลมีเดียของตน เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง ขณะเดียวกัน ทั่วโลกก็หันมาจับจ้องวรรณกรรมจากปลายปากกานักเขียนเอเชียอีกครั้ง การได้รับรางวัลโนเบลของฮันกังถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และยังช่วยส่งเสริมวรรณกรรมเกาหลีให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ณ ใจกลางของความเจ็บปวด: เรื่องราวจากปลายปากกาของฮันกังผู้ใช้วรรณกรรมตั้งคำถามต่อโลก
ทำความรู้จัก ‘ อายาสึจิ ยูกิโตะ ’ ผู้เสกความลึกลับผ่านตัวหนังสือกับนิยายสืบสวนชุดคฤหาสน์ฆาตกรรม