บันทึกหลังอ่าน : แด่ทุกความความตายที่ล้วนมีความหมายบนโลกใบนี้

“ความตาย” คือสิ่งที่แน่นอนที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ข้อนี้เป็นสัจธรรมที่เราย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ แต่ถึงกระนั้น แม้จะรู้ดีว่าความตายจะเดินทางมาหาตัวเรารวมถึงทุกคนรอบตัวในสักวัน แม้จะเป็นเสี้ยวชีวิตที่มีเวลาให้เตรียมใจนานนับปี แต่พอวันนั้นมาถึงจริง ๆ ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจก็ประเดประดังเข้ามาจนไม่อาจห้ามน้ำตาแห่งความทุกข์ใจไม่ให้ไหลออกมาได้

แม้แต่เรื่องราวในภาพยนตร์และนวนิยาย เมื่อความตายเกิดขึ้นกับตัวละครที่เรารักและผูกพัน แม้รู้ดีว่าเป็นเพียงเรื่องราวในโลกสมมติ แต่หลายครั้ง เราก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาเอาไว้ได้

“ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด” นวนิยายที่เล่าถึงเรื่องราวที่อาจเรียกได้ว่าแปลกประหลาดและพิลึกพิลั่นอย่างยิ่งของฮาโรลด์ ฟราย ชายวัยเกษียณที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ของประเทศอังกฤษกับมอรีนภรรยาของเขาผู้เอาแต่หงุดหงิดกับทุกสิ่งที่เขาทำ วันหนึ่งมีจดหมายฉบับหนึ่งมาถึงบ้าน จ่าหน้าซองถึงฮาโรลด์ จดหมายส่งมาจากควีนนี เฮนเนสซี อดีตเพื่อนร่วมงานเมื่อยี่สิบปีก่อนของเขา เธอเป็นมะเร็งและกำลังอยู่ในสถานพักฟื้นผู้ป่วยระยะสุดท้าย จดหมายฉบับนี้ส่งมาเพื่อบอกลา และแน่นอน ฮาโรลด์รีบเขียนจดหมายตอบกลับทันใด แต่แทนที่เขาจะส่งไปรษณีย์ เขากลับตัดสินใจเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 600 ไมล์ (หรือประมาณ 966 กิโลเมตร – ผู้เขียน) เพื่อไปมอบจดหมายให้ถึงมือควีนนีด้วยตัวเอง เพราะเขาเชื่อว่าการเดินของเขาจะช่วยชีวิตเธอได้

ทันทีที่อ่านคำโปรยที่ปกหลังของหนังสือจบ เชื่อว่าหลายคนคงฉงนใจกับการตัดสินใจของฮาโรลด์ แม้แต่ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ทำไมถึงต้องเดินเท้า? ทำไมไม่ขับรถไป? การเดินจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายได้อย่างไร? คำถามมากมายล้วนผุดขึ้นมาในทุกหน้ากระดาษที่พลิกอ่าน ขณะเดียวกัน คำถามเหล่านี้เองคือเสน่ห์ของการตัดสินใจอันแสนพิลึกของฮาโรลด์ เพราะการเดินเท้าในระยะทางกว่า 600 ไมล์ของชายวัยเกษียณไม่ใช่เรื่องง่าย (และคงไม่มีใครคิดทำนอกจากเขา) ทำให้เรายิ่งอยากเอาใจช่วยฮาโรลด์ในทุกเรื่องราวและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ทั้งยังลุ้นว่าสุดท้ายแล้วชายชราผู้นี้จะทำภารกิจส่งจดหมายที่เต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจฉบับนี้สำเร็จไหม

และที่สำคัญ สุดท้ายแล้วควีนนีจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

ความน่าประทับใจของการเดินทางครั้งนี้คือ ในทุกย่างก้าวที่เขาเดินไป บ้านเมืองและร้านรวงน้อยใหญ่รวมถึงผู้คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับเขาโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ฮาโรลด์ได้นึกย้อนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต ทั้งอดีตแสนหวานชื่นกับมอรีนผู้เป็นที่รัก อดีตที่ยากจะลืมเลือนกับพ่อที่เสียศูนย์และแม่ที่จากไป หรืออดีตทชต่อลูกชายคนเดียวที่อยากลบทิ้งให้หายไป แต่ต่อให้เจ็บปวดเจียนตายชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปโดยมีอดีตเหล่านั้นฝังอยู่ในส่วนลึกของความทรงจำ ทุกความผิดพลาด ทุกความทรงจำ ทุก “ความตาย” ที่เขาได้พบเจอในชีวิต ฮาโรลด์ได้เห็นอย่างแจ่มชัดอีกครั้งผ่านการเดินเท้าครั้งนี้

เป็นความจริงที่ว่า ไม่มีใครอาจหลีกเลี่ยงความตายได้ อดีตไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และแน่นอน โรคมะเร็งไม่อาจรักษาให้หายจากการเดินเท้าของชายชราคนหนึ่งได้ ฮาโรลด์เองก็รู้ดีถึงความจริงที่เจ็บปวดข้อนี้ แต่เขาก็เลือกเดินต่อไป ต่อให้ใครต่อใครมองว่าเขาสติฟั่นเฟืองหรือมองเขาด้วยสายตาราวกับกำลังฟังเรื่องตลกอยู่ก็ตาม ควีนนีอาจเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่แสนน่าสงสารคนหนึ่งในความคิดของคนอื่น แต่สำหรับเขา เธอคือเพื่อนร่วมงานที่ดีที่สุดที่เขามี และความเป็นความตายของเธอก็มีความหมายมากพอให้เขาตัดสินใจเดินเท้ากว่า 600 ไมล์ไปหา การเดินทางของฮาโรลด์จึงเป็นยิ่งกว่ามิตรภาพที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหน นอกจากความหวังที่จะช่วยชีวิตควีนนีจะทำให้ฮาโรลด์มีกำลังใจก้าวเดินต่อไปแล้ว ความทรงจำที่ค่อยๆ ถักทอขึ้นระหว่างทาง หลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละย่างก้าว ก็ทำให้ชีวิตอันแสนธรรมดาของเขามีความหมายมากขึ้น ไม่เพียงแต่ชีวิตของฮาโรลด์ แต่ยังรวมถึงมอรีน ควีนนี รวมถึงผู้คนมากมายที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับการเดินทางที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่สุดนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อระยะห่างระหว่างฮาโรลด์กับควีนนีค่อย ๆ ลดลง เมื่อการรอคอยสิ้นสุด และเมื่อคำถามที่ผู้อ่านต่างสงสัยในตอนแรกเริ่มของการเดินทางได้รับการไขคำตอบ ณ เวลานั้น หนังสือก็ได้ทิ้งตะกอนความรู้สึกบางอย่างให้ค้างเติ่งในใจผู้อ่าน เรียกร้องให้เราได้ลองมองย้อนหาอดีต และความทรงจำที่มีความหมายของตัวเองเช่นกัน แม้หลายคนมองว่า “ความตาย” คือจุดสิ้นสุดของทุกอย่าง คือสิ่งที่พรากคนที่มีความหมายในชีวิตเราไป เราจึงเกลียดและกลัวมันมากเหลือเกิน แต่หนังสือเล่มนี้กำลังบอกเราว่า ความตายไม่อาจเอาความทรงจำที่แสนล้ำค่าที่มีต่อคนที่เรารักไปได้ และยิ่งความตายไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ยิ่งทำให้เราต้องใช้เวลาชีวิตที่มีอย่างคุ้มค่าอยู่เสมอ

ไม่ว่าหน้าสุดท้ายของ ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด จะจบลงด้วยความตายของควีนนีหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อความตายนั้นกำลังจะมาเยือนคนที่มีค่าเหลือเกินต่อชีวิต และเป็นเหตุให้คนคนหนึ่งตัดสินใจลุกขึ้นมาทำบางสิ่งที่มีความหมายเพื่อเขาคนนั้น ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า “ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด”

“คุณลุกขึ้นมาทำบางสิ่ง และหากการพยายามค้นหาหนทางในขณะที่คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปถึงหรือเปล่าไม่ถือเป็นปาฏิหาริย์เล็ก ๆ แล้วละก็ ฉันก็ไม่รู้แล้วว่าอะไรจะเป็นได้อีก”

“ฉันรักคุณค่ะ ฮาโรลด์ ฟราย” … “นั่นคือสิ่งที่คุณทำ”         

เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่มีความตายใดที่ไร้ซึ่งความหมาย

บทความโดย Pakjira Matapitak


ร่วมเดินทางไปกับฮาโรลด์ใน

The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry
ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด
เรเชล จอยซ์ เขียน
ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แปล

คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close