เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ.1881 นิทานเรื่อง Storia di un Burattino (เรื่องราวของหุ่นไม้) ของการ์โล กอลโลดี ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์สำหรับเด็ก โดยเฟอร์ดินานโด มาร์ตินี ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ซึ่งเขาได้มอบหมายให้กอลโลดีเขียนนิทานรายสัปดาห์ และเมื่อปีน็อกกีโอถือกำเนิดขึ้น หนังสือพิมพ์ของมาร์ตินีก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ทว่า เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงบทที่ 15 กอลโลดีตั้งใจจะจบนิทานเรื่องนี้ด้วยความตายของเจ้าหุ่นไม้จอมดื้อรั้น เพราะปีน็อกกีโอทั้งเกเรและเนรคุณ ทำความผิดมากมายนับครั้งไม่ถ้วน ชาวบ้านทนไม่ได้กับวีรกรรมเหล่านั้น จึงจับเขาแขวนคอที่ต้นโอ๊กจนตาย แต่ฉากจบนั้นกลับสร้างความไม่พอใจต่อผู้อ่านและถูกพวกเขาเรียกร้องให้แก้ไขต้นฉบับ กอลโลดีจึงเขียนเรื่องราวต่อจากนั้น ปีน็อกกีโอได้รับความช่วยเหลือจากนางฟ้าและออกเดินทางเพื่อตามหาพ่อของเขา
พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น Le avventure di Pinocchio หรือ การผจญภัยของปีน็อกกีโอ นั่นเอง
แจ็ค ไซปส์ ศาสตราจารย์กิตติคุณสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบและวัฒนธรรมศึกษาชาวเยอรมัน มองว่า ‘การผจญภัยของปีน็อกกีโอ’ นั้นแตกต่างจากเทพนิยายเรื่องอื่นที่มักถ่ายทอดออกมาแบบแฟนตาซีและจบลงอย่างแสนสุข เพราะในฉบับดั้งเดิมนั้น กอลโลดีไม่ได้ต้องการให้ปีน็อกกีโอกลายเป็นเด็กชาย แต่ต้องการจบเรื่องราวด้วยการให้ปีน็อกกีโอรับโทษด้วยความตายมากกว่า
การที่ปีน็อกกีโอกลายร่างจากหุ่นไม้เป็นเด็กผู้ชายทั่วไปนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหุ่นไม้เริ่มมีสำนึกผิดชอบชั่วดีและเริ่มเข้ารับการศึกษา กอลโลดีหวังว่านิทานเรื่องนี้จะสร้างค่านิยมให้กับเด็กอิตาเลียนตั้งแต่แรกเกิด เพราะในช่วงเวลานั้น อิตาลีเพิ่งรวมชาติได้สำเร็จ จึงควรพึ่งพาตนเองมากกว่ายอมให้คนต่างชาติหรือต่างศาสนาเข้ามาแทรกแซง
‘การผจญภัยของปีน็อกกีโอ’ จึงเป็นนิทานที่ช่วยชี้ให้เห็นว่า เราจะปลูกฝังการศึกษาและถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ดีให้เด็กๆ ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองไร้อารยธรรมได้อย่างไร
บทความโดย แพรวเยาวชน
ติดตามการผจญภัยของเจ้าหุ่นไม้ใน
The Adventures of Pinocchio
การผจญภัยของปีน็อกกีโอ
การ์โล กอลโลดี เขียน
ลลิตา ผลผลา แปล
คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย