“สิงโตนอกคอก” คือผลงานรวมเรื่องสั้นของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อ พ.ศ. 2560 ด้วยวิธีการเล่าเรื่องราวบนโลกสมมติในแบบดิสโทเปีย ทำให้ทั้ง 9 เรื่องสั้นในเล่มนี้สะท้อนภาพบรรยากาศของสังคมและเสียดสีค่านิยมอันบิดเบี้ยวได้อย่างเจ็บแสบ และ 1 ใน 9 เรื่องสั้นชื่อ “สิงโตนอกคอก” อันมีชื่อเดียวกันกับตัวเล่ม ดูจะเป็นเรื่องที่โดดเด่นที่สุด ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของโลกดิสโทเปียที่แบ่งผู้คนออกเป็นสองประเภท คือ คนตาดำอันสูงส่ง กับคนตาขาวอันต่ำต้อย ซึ่งชะตากรรมที่คนตาขาวต้องแบกรับไปตลอดชีวิตคือการตกเป็นเบี้ยล่างของคนตาดำ ต้องถูกกลั่นแกล้ง ทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่ถูกสังหารด้วยน้ำมือของกลุ่มคนตาดำ เพียงเพราะเกิดมาเป็นคนตาขาว ต่อให้ล้มตายไปต่อหน้าฝูงชนก็ไม่มีใครสนใจหันมาเหลียวแล
“มนุษย์เผ่าตาขาวมีสถานะด้อยกว่าเผ่าตาดำที่มีอยู่ก่อนมาตลอด พวกเขาอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ว่าคนตาขาวมักจะถูกกีดกันหรือไม่ก็รังแก นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิต่าง ๆ ในสังคมน้อยกว่าคนตาดำด้วย”
เพราะความสมจริงของเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในเรื่องสิงโตนอกคอกนี้คือกระจกสะท้อนสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยอคติ ความเหลื่อมล้ำและการผลักผู้คนที่แตกต่างออกไป ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นกลุ่มชายขอบทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแม้แต่น้อย มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ไม่มีใครเลือกเกิดได้ตามใจต้องการ เราไม่สามารถเลือกสีผิว เชื้อชาติ หรือสถานที่เกิดของตัวเองได้ แต่เหตุใดกันมนุษย์กลับทำร้ายกันซ้ำ ๆ เพียงเพราะความหลากหลายนี้ ทั้งอคติทางเชื้อชาติ ศาสนา และโดยอย่างยิ่ง ปัญหาอคติทางสีผิว ซึ่งสิ่งที่กลุ่มคนชายขอบในสังคมต้องพบเจอไม่ได้มีเพียงสายตาหรือถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามจากผู้คน แต่ในบางครั้งพวกเขาต้องถูกทำร้ายจนเสียชีวิตแค่เพราะพวกเขาไม่ได้มีสีผิวตามแบบค่านิยมของคนในสังคม
หากกล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงจากอคติทางสีผิวซึ่งเคยเกิดขึ้นจริง เราคงจะนึกถึงเหตุการณ์สะเทือนใจคนทั่วโลกที่เกิดขึ้น ณ รัฐมินเนโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อมีนายตำรวจเข้าจับกุมชายผิวดำนามว่า จอร์จ ฟลอยด์ โดยใช้ช่วงเข่ากดต้นคอของเขาเอาไว้เป็นเวลานาน แม้ว่าจอร์จจะขอร้องให้นายตำรวจคนนั้นปล่อยเขาและพยามยามบอกว่าตนเองหายใจไม่ออก แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ จนกระทั่งเขาขาดอากาศหายใจในที่สุด แต่การตายของจอร์จ ฟลอยด์ ไม่ได้จบอยู่เพียงเท่านั้น เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำมาสู่การเคลื่อนไหวอันโด่งดังและเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกของ #blacklivesmatter (Black Lives Matter) แคมเปญเรียกร้องความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมาให้กับคนผิวดำทั่วโลก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า อคติต่อสีผิวและการเหยียดผิวดำนั้นฝังรากลึกในสังคมมานาน และนำมาซึ่งความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำอยู่บ่อยครั้ง
ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งที่คนในสังคมทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายของสีผิวและเชื้อชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากคนผิวดำจะเป็นเหยื่อของความรุนแรงและอคติทางสีผิวแล้ว คนชายขอบอีกกลุ่มหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากอคติทางสีผิวที่เราอาจมองข้ามพวกเขาไปก็คือ คนที่มีสีผิว “ขาวเกินไป” พวกเขาเหล่านี้ก็ต้องพบเจอกับการเลือกปฏิบัติและโดนดูถูกเหยียดหยามไม่น้อย ซึ่งผู้ที่มีผิวขาวเกินไปที่กำลังกล่าวถึงนี้ เป็นที่รู้จักกันในนามของ “คนผิวเผือก”
โรคผิวเผือกหรือโรค Albinism เกิดจากยีนด้อยที่มีอยู่ในพันธุกรรมซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตเม็ดสีเมลานินในผิว จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคผิวเผือกมีสีผิวขาวกว่าปกติ รวมถึงมีผมสีขาว ตาสีขาว ม่านตาสีเทาและโปร่งแสง ผิวบอบบาง เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ง่ายกว่าคนทั่วไปและไม่สามารถตากแดดเป็นเวลานานได้ ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีวีธีรักษาโดยตรงและจำเป็นต้องป้องกันร่างกายให้ห่างไกลจากแสงแดด เพราะแสงแดดจะทำให้ผิวของคนที่เป็นโรคผิวเผือกตกกระและจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้
หลายคนอาจมีความคิดว่า ด้วยอคติทางสีผิวของคนในสังคม หากได้เกิดมาเป็นคนที่มีผิวขาวก็คงจะได้รับสิทธิพิเศษ (Privilege) มากกว่าใคร แต่ในทางกลับกัน คนที่มีสีผิวขาวเกินไปอันมีสาเหตุมาจากโรคผิวเผือกนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาต้องพบเจอกับการถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกบูลลี (Bully) ถูกเลือกปฏิบัติ และบางกรณีอาจถูกทำร้ายร่างกายด้วยความรุนแรงจนถึงชีวิต ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับคนผิวเผือกในประเทศแอฟริกา คนผิวเผือกเหล่านี้ถูกอคติทางสีผิวผลักให้พวกเขากลายเป็นคนชายขอบของสังคม มีการรายงานว่า คนผิวเผือกชาวแอฟริกาจำนวนมากถูกทำร้ายร่างกาย ทรมาน และบางรายถูกสังหาร เพราะความเชื่อผิดๆ ที่ว่าชิ้นส่วนจากร่างกายที่มีสีผิวแตกต่างไปจากคนทั่วไปในสังคมจะนำความโชคดีมาให้ผู้ที่ได้ครอบครอง ที่เลวร้ายและน่าสะเทือนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ผู้หญิงผิวเผือกบางคนถูกข่มขืนเพราะความเชื่ออันบิดเบี้ยวที่คิดว่าหากมีเพศสัมพันธ์กับคนผิวเผือกจะสามารถรักษาโรคเอดส์ได้ และยังมีความโหดร้ายอีกมากมายที่คนผิวเผือกต้องเผชิญ เพียงเพราะพวกเขามีสีผิวที่แตกต่างจากคนหมู่มากในสังคม
ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นคนผิวดำ คนผิวเผือก หรือสีผิวไหน ๆ บนโลกใบนี้ เราทุกคนล้วนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ควรมีใครมีฐานะต้อยต่ำกว่าใครเพียงเพราะพวกเขามีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม เพราะธรรมชาติที่หลากหลายคือความงดงามอันแท้จริงของมนุษย์ หากเรารู้จักยอมรับความหลากหลาย คนในสังคมจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และยอมรับความแตกต่างของกันและกัน โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบหรือตัดสินใคร
“เมื่อไหร่เรื่องพวกนี้มันจะสิ้นสุดลงเสียที”
“เธออยากให้พวกตาดำหยุดทำแบบนี้ เธอไม่ต้องได้สิทธิอะไร ๆ เท่ากับพวกนั้นก็ได้ ขอแค่หยุดทำร้ายพวกเธอ”
บทความโดย Pakjira Matapitak
ร่วมสะเทือนใจกับโศกนาฏกรรมสังคมผ่านเรื่องเล่าใน
สิงโตนอกคอก
โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย
อ้างอิง
PPTV Online. (2562). คนผิวเผือกแอฟริกา ยีนด้อยที่นำสู่ชะตาชีวิตสุดโหดร้าย. จาก https://www.pptvhd36.com/news/
ไทยรัฐออนไลน์. (2560). ช้ำใจเกิดมาแปลก? ส่องชีวิต ‘คนผิวเผือก’ เลือกเกิดไม่ได้. จาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/abroad/970423