“Ways of Seeing” เสพงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ผ่านรูปแบบสื่อที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย

บันทึกเสวนา “Sophia Book Talk”
ณ มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27
14 ตุลาคม 2565

เคยไหม? ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะล้ำค่า แต่ไม่เข้าใจความหมายในภาพตรงหน้า
ไม่รู้ว่าทำไมผลงานบางชิ้นถึงสูงทั้งมูลค่าและคุณค่า ขณะที่บางชิ้นจัดเป็นผลงานดาษดื่น

Ways of Seeing หรือ “มอง” ไม่ได้แปลว่า “เห็น” จะช่วยให้คุณเข้าใจบริบทที่ซุกซ่อนอยู่ในรูปภาพหลากหลายประเภท ทำไมภาพเหมือนของชนชั้นสูงถึงดูแข็งทื่อ ห่างเหินและไม่มีรอยยิ้ม? ภาพวาดหญิงสาวเปลื้องผ้าตรงหน้านับเป็นภาพโป๊หรือภาพเปลือย? รวมถึงภาพที่ปรากฏรอบตัวเราอย่างภาพโฆษณา จอห์น เบอร์เกอร์ (John Berger) จะจุดประเด็นให้คุณเห็นว่า สายตาที่เรามีต่อศิลปะเป็นมาตรวัดสภาพสังคมเราได้อย่างไร

และนี่คือหนังสือคลาสสิกเกี่ยวกับการวิพากษ์ศิลปะที่ตัวมันเองกลายเป็นงานศิลปะ ซึ่งมีชีวิตยืนยาวร่วมครึ่งศตวรรษ

เสวนา Sophia Book Talk ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 คุณนักรบ มูลมานัส ศิลปินและนักเขียนอิสระ และคุณสิริมา ไชยปรีชาวิทย์ นักจัดการงานสร้างสรรค์แห่งเพจ Ground Control ได้ถ่ายทอดมุมมองการเสพงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ผ่านรูปแบบสื่อที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัยไว้ได้อย่างน่าสนใจ

“การวิพากษ์ศิลปะ” เรื่องไม่ใหม่ที่ยังคงสดใหม่ในทุกยุคสมัย

คุณสิริมาเล่าถึงหนังสือ Ways of Seeing ว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าฉบับภาษาอังกฤษค่อนข้างเข้าใจยากจึงได้อ่านอย่างจริงจังอีกครั้งในฉบับแปลภาษาไทย โดยคุณนักรบเสริมว่าจริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือใหม่ แต่ฉบับแปลภาษาไทยได้จัดพิมพ์ในวาระที่หนังสือเล่มนี้มีอายุครบ 50 ปีพอดี ซึ่งปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ยังถูกอ่านซ้ำอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลกตลอด 50 ปี

จอห์น เบอร์เกอร์เขียนหนังสือเล่มนี้ในทศวรรษ 70 ที่ผู้คนอาจไม่ได้รายล้อมด้วย ‘วัฒนธรรมภาพ’ ที่เยอะเท่าปัจจุบัน หากลองนึกภาพ 50 ปีที่แล้วกับ 50 ปีตอนนี้ เราจะรู้สึกว่าทุกวันนี้เราถูกรายล้อมด้วยวัฒนธรรมทางสายตาที่มากกว่าในหนังสือหลายเท่า และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมภาพที่หนึ่งวันสามารถมองเห็นได้หลายพันหลายหมื่นภาพ แสดงว่าทุกวันนี้เราเห็นภาพเต็มไปหมด ทำให้รู้สึกว่า 50 ปีที่แล้วมีคนที่ตระหนักถึงภาพที่ตนเห็นว่าอาจเต็มไปด้วยเบื้องลึกเบื้องหลังต่าง ๆ ว่าอาจไม่ใช่แค่ภาพที่เห็นผ่านตาอย่างเดียว นับเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่มากจนเริ่มทำให้ผู้คนตั้งคำถามถึงสิ่งที่เห็นว่ามีที่มาและมีบทบาทนำพาความคิดของเราอย่างไร หนังสือเล่มนี้จึงจัดเป็นหนังสือคลาสสิกในแวดวงคนทำงานศิลปะ รวมถึงผู้ที่สนใจด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา มนุษยศาสตร์ เพราะหนังสือได้เชื่อมโยงการรับรู้ทั้งหมด ภาพเชื่อมโยงกับภาษา ภาษาเชื่อมโยงกับความรับรู้ และเพราะสามารถโยงใยไปได้อีกหลายอย่างในโลกทุนนิยมที่ถูกรายล้อมด้วยวัฒนธรรมทางสายตา ขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้จึงมีความร่วมสมัย บางบทบางถ้อยคำเหมือนถูกเขียนขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ทั้งที่ผู้เขียนเสียชีวิตไปแล้วหลายปี

คุณสิริมาเสริมว่าส่วนตัวชอบชื่อหนังสือฉบับแปลภาษาไทย “มอง” ไม่ได้แปลว่า “เห็น” เพียงคำนี้ก็ทำให้คิดแล้วว่า ‘มอง’ คือเรามองอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘เห็น’ ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจทั้งหมดของความหมายที่อยู่เบื้องหลังถ้าไม่วิเคราะห์ให้ดีพอ ประเด็นดังกล่าวคือเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้

ความหมายที่แท้จริงของ ‘มอง’ และ ‘เห็น’

คุณสิริมากล่าวว่า สิ่งแรกที่หนังสือได้พูดถึงคือ คำว่า ‘ทัศนศิลป์’ จริงๆ แล้วคำนี้มีความหมายที่แท้จริงอย่างไร

คุณนักรบขยายรายละเอียดคำว่าทัศนศิลป์ว่า จริงๆ แล้วคำนี้ตามหลักบาลีสันสกฤตแปลว่า ‘การมอง’ ทัศนศิลป์คือศิลปะที่มนุษย์รับรู้ด้วยการมอง ทุกวันนี้คำเรียกนี้จัดเป็นคำใหญ่มาก ครอบคลุมทั้งการวาดภาพงาน 2 มิติและ 3 มิติ โดยรวมจึงเรียกว่า ‘ทัศนศิลป์’ แต่งานที่แยกตัวออกมาอาจเป็นร่มใหญ่ที่คลุมทุกสิ่งทุกอย่าง โดยแตกแยกย่อยออกเป็นงานประติมากรรม งานวิดีโอ และอื่นๆ แต่คำว่าทัศนศิลป์ก็ยังเป็นภาพใหญ่

เมื่อจอห์น เบอร์เกอร์สะกิดให้ทุกคนสนใจคำว่า ‘มอง’ ในกรณีว่า ‘มอง’ กับ ‘เห็น’ อาจเป็นคนละคำกันและมีความซับซ้อนในความหมายแตกต่างกัน จึงทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วลำดับชั้นของการมองกับการเห็นในแต่ละวัฒนธรรม อาจจะมีความซับซ้อนไม่เหมือนกัน อย่างคำภาษาอังกฤษก็มีคำว่า See คำว่า Watch และมีอีกหลายคำในภาษาอื่นๆ นั่นแสดงว่าระดับของการทำความเข้าใจการใช้สายตานั้นมีหลายระดับมาก แต่จอห์น เบอร์เกอร์บอกว่าการมองมาก่อนคำพูด ก่อนภาษา และยังบอกให้เห็นว่าการมองเป็นสิ่งพื้นฐานสำหรับมนุษย์ในการทำความเข้าใจโลก ทำความเข้าใจคนอื่น และสุดท้ายพอเกิดกล้องถ่ายรูป ก็เกิดการเซลฟี หรือการเกิดกระจกในยุคก่อนก็เป็นการทำความเข้าใจตัวเองด้วยเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ของ ‘การมอง’ ที่ร้อยเรียงกับประวัติศาสตร์โลกทัศน์ของมนุษย์

เมื่อคุณสิริมาได้ชวนแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ความเป็นเทวนิยม ที่พูดถึงพระเจ้าพูดถึงหลักศาสนาอย่างเดียว กลายมาเป็นความเป็นปัจเจกหรือมนุษย์นิยม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้แนวคิดนี้เปลี่ยนไปก็คือการมีกระจกเกิดขึ้นบนโลก จนทำให้ผู้คนหันมาสนใจตัวเอง คุณนักรบจึงแลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นนี้ว่า สมมติว่าเราไปเที่ยวแหล่งประวัติศาสตร์โลกยุคหิน การที่มนุษย์ยุคนั้นสำรวจตัวเองก็อาจสำรวจผ่านแม่น้ำลำธาร มองลงไป จากนั้นก็เข้าสู่ยุคกรีกโรมันซึ่งนวัตกรรมกระจกอาจยังไม่เกิดขึ้น และเมื่อเข้าสู่ยุคกลางหรือยุคมืดทางศาสนา ‘การมอง’ หรือการทำรูปจำลองของตัวเองเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะถือเป็นการไม่เคารพพระเจ้า รูปจำลองใดๆ ควรทำเพื่อบูชาเท่านั้น

จนเมื่อเริ่มมาสู่คริสต์ศตวรรษที่ 15 -16 เริ่มยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของยุโรป) ยุคนี้ผู้คนตั้งคำถามและเห็นความสำคัญของความคิด ความรู้ โดยนิยมความเป็นมนุษย์ซึ่งมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น สรรเสริญความสามารถของมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น แนวคิดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความพยายามในการวาดภาพให้เหมือนจริง

เมื่อมนุษย์จำลองภาพตัวเองออกมา ทำให้คนอื่นได้เห็นเราอย่างที่เราอยากจะเป็น การที่เรามองเห็นตัวเองก็อาจมองเห็นเชื่อมโยงถึงคุณลักษณะต่างๆ ของความเป็นมนุษย์ อำนาจ หน้าที่ ความงามหรือความไม่งามต่างๆ ทำให้มนุษย์เริ่ม ‘มอง’ และ ‘เห็น’ ภาพของมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น ไม่ใช่เห็นเพียงภาพนักบุญในศาสนาเพียงอย่างเดียว

คุณสิริมาเสริมว่า ภาพแบบเทวนิยมที่เกี่ยวโยงกับศาสนาเป็นการมองออกไป แต่การที่เรามองภาพที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน คือการสะท้อนกลับมาหาตัวเราประมาณหนึ่ง เป็นการ ‘มอง’ เพื่อจะได้รู้ว่า เราคือใคร และเราสามารถเป็นสิ่งนั้นได้ จอห์น เบอร์เกอร์ยังเขียนถึงวิวัฒนาการของสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไป โดยช่วงแรกของหนังสือจะโฟกัสเรื่องภาพวาด แต่ในยุคที่เขาเขียนนั้น โลกมีกล้องถ่ายรูปที่สามารถถ่ายทอดและผลิตซ้ำงานศิลปะได้แล้ว

“กล้องถ่ายรูป” Turning Point ของโลกทัศน์ทางศิลปะ

คุณนักรบขยายประเด็นของกล้องถ่ายรูปว่า โลกก่อนที่จะเกิดกล้องถ่ายรูปเราอาจเห็นภาพไม่ชัดมาก แต่เวลาที่เรามองเห็นภาพวาดของศิลปิน ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังใส่ดวงตาของศิลปินคนนั้น สมมติว่าเราดูรูปภาพบึงบัวของโคลด์ โมเนต์ เขาวาดภาพโดยยืนอยู่ตรงหน้าบึงบัว แสดงว่าคนที่มองภาพนี้ก็กำลังสวมสายตาของโคลด์ โมเนต์เมื่อมองภาพนี้อยู่เช่นกัน ความตระหนักเหล่านี้ชัดเจนขึ้นประมาณศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีกล้องถ่ายรูปเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้เราเห็นกระบวนการชัดเจนว่ารูปถ่ายที่เรามองคือสายตาของช่างภาพที่เอาตาของเราไปจ่อกับกล้องแล้วถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมา การผลิตซ้ำรูปถ่ายจึงทำให้คนกำลังมองเห็นภาพผ่านสายตาของช่างภาพซ้ำๆ

การที่เราตระหนักว่าภาพวาดหรือภาพถ่ายเป็นสายตาของคนวาดหรือว่าคนถ่ายนั้นเท่ากับเราต้องเลือก เพราะมนุษย์ไม่สามารถเก็บภาพแบบ 360 องศาได้ กล้องถ่ายรูปมีเฟรมภาพกำกับการรับรู้ และกระบวนการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยภาพวาดสีน้ำมันแล้ว เพราะภาพวาดสีน้ำมันตามขนบต้องเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพราะฉะนั้นศิลปิน (หรือคนถ่ายรูป) ก็กำลังเลือกภาพที่จะให้คนอื่นเห็นด้วยเช่นกัน

คุณสิริมาเสริมว่า ถ้าให้เปรียบเทียบกับอินสตาแกรม แต่ละคนก็จะถ่ายรูปมุมมองเวลาไปเที่ยวในสถานที่เดียวกันแตกต่างกันเพื่อบ่งบอกว่าตนมีมุมมองอย่างไร แล้วเวลาคนที่เห็นภาพเหล่านั้นก็จะรู้ว่าคนถ่ายรูปนี้มองโลกอย่างไร เหมือนที่คนดูสามารถใช้สายตาถ่ายทอดการมองเห็นว่าเขามีมุมมองต่อโลกนี้อย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วก็ค่อนข้างชัดเจนมากว่าผู้ถ่ายทอดเลือกมองมุมไหน แต่จอห์น เบอร์เกอร์ก็วิเคราะห์ต่อไปว่า นอกจากเราจะพูดถึงการวาดภาพแล้ว เราสามารถพูดถึงการมาของเทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปที่สร้าง ‘การผลิตซ้ำ’ ซึ่งการผลิตซ้ำในที่นี้หมายความว่า ทุกวันนี้เราไม่ต้องไปถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ก็ได้เห็นภาพโมนาลิซา เราสามารถเปิดเว็บไซต์กูเกิลแล้วพิมพ์คำว่า ‘โมนาลิซ่า’ ในช่องค้นหาก็ได้เห็นรูปโมนาลิซา แต่การได้เห็นภาพโมนาลิซาในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์กับการได้เห็นภาพโมนาลิซาที่บ้านตัวเองในบริบทที่แตกต่างกันในพื้นที่ของตัวเอง สิ่งนี้มีความหมายแตกต่างกันหรือไม่

คุณนักรบเสริมประเด็นนี้ว่า โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้แทบจะเป็นโลกที่ผลิตซ้ำทุกสิ่งทุกอย่าง มีการผลิตภาพโมนาลิซาในสื่อรูปแบบต่างๆ ซึ่งจอห์น เบอร์เกอร์บอกว่าสิ่งนี้ถูกตั้งคำถามมานานแล้วโดยนักคิด นักวิจารณ์ศิลปะชื่อวอลเตอร์ เบนจามิน ซึ่งเขากล่าวถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการผลิตซ้ำสิ่งต่างๆ เนื่องจากแก่นความคิดของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคือการทำอะไรบางอย่างซ้ำๆ เพื่อเสริมตลาด ซึ่งศิลปะมีข้อจำกัดตรงจุดนี้ วอลเตอร์ เบนจามินยังกล่าวอีกว่างานต้นฉบับจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ออรา’ (ประกาย) ของภาพจริงที่ดึงดูดเสมอ ซึ่งเขาเขียนไว้ก่อนจอห์น เบอร์เกอร์หลายสิบปี ซึ่งทุกวันนี้มันทำให้เราต้องตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ว่า จริงๆ แล้วออราในรูปแบบที่วอลเตอร์ เบนจามินบอกมีจริงหรือไม่ หรือที่เรารู้สึกถึงออราอาจเป็นเพราะเรารู้เรื่องราว แต่ถ้ามองและคิดโดยไม่ดูเรื่องราว เราอาจไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่ายิ้มของโมนาลิซามีความน่าสนใจ

หนังสือจะค่อยๆ อธิบายสิ่งต่างๆ เหล่านี้พร้อมยกตัวอย่างให้เข้าใจมากขึ้น ให้เราได้คิดและวิเคราะห์ในมุมมองของเราซึ่งคำตอบของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน จอห์น เบอร์เกอร์ได้นำเสนออีกหนึ่งความคิดเห็นในหนังสือเล่มนี้คือ หลังจาก ‘ภาพ’ วิวัฒน์จากการวาดสู่การถ่าย จากกำเนิดกล้องถ่ายรูปสู่การผลิตซ้ำ เขากล่าวว่าภาพนิ่งมีพลังอำนาจในแบบของตนเอง แต่ว่าภาพนิ่งนั้นอยู่เฉยๆ ไม่สามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของตัวเองได้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาของภาพคือสิ่งแวดล้อม

เพศ การมอง การถูกมอง

คุณสิริมาได้เล่าเสริมถึงหนังสือในมุมมองของบทบาททางเพศ การมองและการถูกมอง ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนว่าสามารถคิดวิเคราะห์ในมุมนี้ได้ แต่จอห์น เบอร์เกอร์ได้เจาะลึกมุมมองของผู้หญิงเป็นหลัก โดยกล่าวถึงเวลาที่เรามองออกไป หรือการที่เรารู้สึกว่าถูกมองว่ามีผลกระทบต่อตัวตนของเราอย่างไร

คุณนักรบชวนตั้งข้อสงสัยต่อประเด็นนี้ว่า ถ้าให้ยกตัวอย่างจิตรกรที่มีชื่อเสียงของโลกตะวันตกมาสามชื่อจะคิดถึงใครบ้าง ถ้าตอบว่าเลโอนาร์โด ดา วินชี โคลด์ โมเนต์และฟรันซิสโก โกยา ทั้งสามคนนี้เป็นผู้ชาย หรือจะลองคิดชื่อที่สี่ ห้า หรือหก ก็จะเป็นชื่อผู้ชายทั้งหมดอีกเช่นกัน เรานึกถึงจิตรกรผู้หญิงแทบไม่ออกหรือไม่ออกเลยด้วยซ้ำ

ภาพเขียนทั้งหมดมักถูกเล่าและถ่ายทอดผ่านสายตาของผู้ชายหรือผู้ที่มีเพศสภาพชาย ภาพเขียนของฝั่งตะวันตกถูกครอบงำแบบนี้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ที่เรารู้จัก แน่นอนว่าพวกเขาอาจจะวาดรูปทางศาสนา วาดรูปทิวทัศน์ แต่ก็จะมีภาพวาดผู้หญิงด้วยเสมอ เพราะผู้ชายเป็นฝั่งจับจ้อง ผู้หญิงเป็นฝั่งถูกจับจ้อง การที่ศิลปินชายนำเสนอภาพวาดประเภทโป๊เปลือยไม่ใส่เสื้อผ้ามักมีวัตถุประสงค์เพื่อการชื่นชมสตรี นั่นทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุแห่งความรัก ความใคร่ ความพิศวาส

คุณสิริมาเสริมประเด็นนี้ต่อว่า จริงๆ แล้วภาพวาดเหล่านั้นเป็นรากฐานขององค์ประกอบหลายอย่างที่ปรากฏในโฆษณา ภาพยนตร์หรือมิวสิกวิดีโอ ชวนให้ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วผู้ชายจะรู้สึกว่าเขาเป็นคนมอง แต่ผู้หญิงเวลาที่มองภาพเหล่านี้จะไม่ได้ปกป้องตัวเอง เพราะไม่ได้เป็นเพียงคนมองอย่างเดียวแต่มองภาพตรงหน้าด้วยสายตาของคนที่ถูกมองด้วย หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายชัดเจนว่าผู้หญิงตั้งแต่เด็กๆ เวลาถูกมองหรือเวลาที่มองเห็นตัวเอง เราจะไม่มองแค่แบบเดียว แต่จะมองว่าตัวเองกำลังถูกมองแบบไหนในสายตาผู้ชาย ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าคิดมากเพราะทำให้เราในฐานะผู้หญิงก็ต้องมองกลับไปว่าเวลาส่องกระจกเราคิดแบบนั้นหรือไม่ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ช่วยเปิดโลก เปิดสายตาให้เข้าใจเรื่องนี้ใหม่

คุณนักรบกล่าวว่า ผู้หญิงสมัยก่อนมักถูกวาดโดยศิลปินชาย เป็นวัตถุแห่งความใคร่ แล้วค่อยๆ พัฒนาตามยุคสมัยไปเรื่อยๆ แล้วภาพเหล่านี้ก็เป็นภาพที่เหล่าไฮโซ คนรวย ผู้ครองเมืองต่างๆ วาดแล้วเก็บไว้ในที่รโหฐาน หรือบางยุคก็ถูกนำออกมาเสนอโจ่งแจ้ง สิ่งที่น่าคิดอีกอย่างคือในสมัยก่อนคนวาดเป็นผู้ชายทั้งหมด แต่เมื่อถึงยุคที่เริ่มมีกล้องถ่ายรูป ยุคนั้นผู้คนมีรายได้และเข้าถึงทรัพยากรได้ประมาณหนึ่ง ทุกคนจึงสามารถมีกล้องถ่ายรูปได้ นั่นทำให้อำนาจที่ใช้เพื่อแสดงตัวตน แสดงภาพ ไม่ได้มีเฉพาะผู้ชายอีกต่อไปแล้ว

เมื่อมองไปที่โลกตะวันตก เราจะเห็นว่าศาสนาคริสต์เป็นเอกเทวนิยมหรือนับถือพระเจ้าสูงสุดพระองค์เดียวและพระเจ้าองค์นั้นก็เป็นผู้ชาย มนุษย์คนแรกอย่างอดัมก็เป็นผู้ชาย แต่อีฟที่เป็นมนุษย์ผู้หญิงมาจากซี่โครงของอดัม อีฟเป็นคนทำบาปครั้งแรกด้วยการกินผลไม้ เพราะฉะนั้นผู้หญิงในเรื่องเล่าของศาสนาคริสต์ก็จะพูดถึงผู้หญิงในมุมที่อยู่ต่ำกว่าค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องมองให้รอบด้านเช่นกันว่ามันเป็นอย่างไร ดังนั้นภาพรวมของประวัติศาสตร์โลกจึงมีให้ชายเป็นใหญ่ประมาณหนึ่ง ส่วนนี้คุณสิริมาเสริมว่า เราจะมองจากบริบทด้วยการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์โลก รูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมและสามารถวิเคราะห์หรือตั้งคำถามใหม่ๆ เพิ่มเติมได้

คุณนักรบชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อในประเด็นภาพวาดสีน้ำมันซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจบางอย่างของผู้ครอบครองอย่างอำนาจทุนในการว่าจ้างศิลปินหรือมีอำนาจในการปกครองว่าภาพวาดสีน้ำมันนับเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งของคนกลุ่มนี้ ภาพวาดสีน้ำมันมักเป็นภาพเหมือนผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมักมีประเพณีการส่งภาพไปให้เพื่อแสดงสายสัมพันธ์ของอำนาจ

คุณสิริมาเสริมประเด็นนี้ว่า สิ่งเหล่านี้คือการเสริมบารมีและอำนาจของผู้ครอบครองภาพวาดเหล่านั้น และเวลาที่เราเห็นภาพสีน้ำมัน เรามักเห็นเป็นภาพวาดหุ่นนิ่งของสิ่งที่ตั้งอยู่ในบ้าน เห็นภาพวาดที่มีเฟรมภาพเยอะๆ เพราะในยุคหนึ่งจะมีการให้วาดภาพวาดสีน้ำมันสิ่งของที่เราครอบครองเพื่อบอกฐานะทางสังคม ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่สีน้ำมันเฟื่องฟูและสามารถเสริมอำนาจบารมีให้ผู้ครอบครอง

โฆษณา = รูปรอยแห่งบริโภคนิยมหรือเสรีภาพแห่งทางเลือก?

Ways of Seeing “มอง” ไม่ได้แปลว่า “เห็น” ยังเล่าถึงยุคที่โฆษณาเฟื่องฟู ซึ่งจอห์น เบอร์เกอร์ได้เล่าถึงไอเดียหรือใจความหลักของโฆษณาว่ามันมีอิทธิพลต่อการ ‘มอง’ ของเราอย่างไร โดยคุณนักรบได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันเรามีความตระหนักรู้ในเรื่องของโฆษณาระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ยุคสมัยปัจจุบันโฆษณาเข้าถึงเราด้วยวิธีที่สอดแทรกเข้ามาตามช่องทางต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างแยบยล ผ่านเทคโนโลยีการแอบฟัง บทบาทของโฆษณาในปัจจุบันนั้นซับซ้อนยิ่งกว่าบทบาทของโฆษณาที่จอห์น เบอร์เกอร์เขียนไว้

แม้จริงๆ แล้วโฆษณาที่เรามองเห็นและมีมากมายจนน่ารำคาญเป็นวัตถุสำคัญที่บอกถึงโลกบริโภคนิยมมากๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมไปแต่หนังสือเล่มนี้ได้บอกไว้คือ การมีโฆษณาคือการยืนยันอย่างหนึ่งว่าเรายังอยู่ในโลกเสรี ยิ่งคนทำโฆษณาเยอะเท่าไร นั่นหมายถึงเรามีทางเลือกที่จะซื้อสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ความน่ารำคาญของโฆษณาหากมองอีกมุมหนึ่ง สิ่งนี้กลับบอกให้เราเห็นความเสรีประชาธิปไตยที่มีสิทธิ์ในการเลือก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป…

การ ‘มอง’ เป็นเรื่องของทุกคน ถ้าเราให้เวลา ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ คิด และค่อยๆ วิเคราะห์ เราจะเห็นมุมมองใหม่ของคำว่า ‘มอง’ และ ‘เห็น’ อย่างแท้จริง

การตระหนักว่าตัวเองกำลัง ‘มอง’ และ ‘เห็น’ อะไรกับโลกใบนี้ด้วยความรู้เท่าทัน สิ่งนี้จะทำให้เราเข้าใจตัวเอง และสามารถสร้างสรรค์ผลงานอื่นๆ ในมุมมองของนักเล่าเรื่องที่ดีได้อีกด้วย

บันทึกโดย Sophia


Ways Of Seeing “มอง” ไม่ได้แปลว่า “เห็น” 
จอห์น เบอร์เกอร์ เขียน
รติพร ชัยปิยะพร แปล

คลิกที่นี่เพื่อสั่งซื้อได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close