หากกล่าวถึง “ฆาตกรต่อเนื่อง” คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักคำนี้ และหากให้พูดถึงหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องไว้ได้อย่างละเอียดที่สุด คงอดที่จะนึกถึงหนังสือเล่มใหม่จากสำนักพิมพ์ Sophia อย่าง “ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ” ไปไม่ได้ เพราะเปิดตัวเพียงไม่ถึงเดือนก็ขึ้นแท่น Bestseller ของสำนักพิมพ์แล้ว
บทความนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณฟาโรห์ จักรภัทรานน จาก The Common Thread ถึงที่มาที่ไปของ “ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ” หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่อง 9 คนที่สะเทือนมโนสำนึกของคนทั่วโลก และทำความรู้จักตื้นลึกหนาบางในความเป็นคนของเราด้วยการดำดิ่งสู่หัวใจที่มืดสนิทของปีศาจ
จุดเริ่มต้นของ The Common Thread
จริง ๆ มันคือมุมมองของเราที่มีต่อสังคมในปัจจุบัน องค์ความรู้เกี่ยวกับความเข้าใจในแง่ของที่มาที่ไปการเกิดอาชญากรรมหรือวิธีการรับมือกับอาชญากรในสังคมของบ้านเรา ไล่เรียงมาตั้งแต่ รัฐ เอกชน ประชาชนคนธรรมดายังพัฒนาได้อีก โดยส่วนตัวมองว่า ณ ปัจจุบันสปอร์ตไลท์มันถูกฉายไปในทิศทางของการเน้นกระตุ้นอารมณ์หรือความรู้สึกร่วมมากกว่าการสร้างความเข้าใจจนนำไปสู่การตกผลึกและการถอดบทเรียน
คราวนี้เราก็เลยรู้สึกว่า งั้นเราทำเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ออกมาดีกว่า เล่าเรื่องราวและสอดแทรกองค์ความรู้ลงไป แต่ตอนเด็ก ๆ เคยดูรายการเชิงวิชาการแล้วรู้สึกว่าวิชาการเป็นเหมือน “ยาขม” ถ้าหากเราทำวิชาการจ๋า ๆ ไปเลยคนจะไม่ฟัง สารที่ส่งออกไปจะไปถึงคนไม่ได้ตามเป้าประสงค์ที่เราอยากจะ spread ออกไปให้มันมากที่สุด ก็เลยเลือกใช้ทำวิธี “เคลือบยาขมนี้ด้วยลูกอมหรือชอล์คโกแลต” ไม่อยากเปรียบเทียบเชิงนี้แต่เราก็ใช้ mindset นี้กับทุกเรื่อง แม้กระทั่งเคสล่าสุดที่เล่าเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ที่ดูยากแต่จริง ๆ แล้วมันมีเรื่องราวที่สนุกและน่าหลงใหล
เราสนใจเรื่องชาวบ้าน เราสนใจที่มาที่ไปของชาวบ้าน เราจะจดจำวิถีชีวิตของชาวบ้านได้มากกวาตัวเราเองซะอีก
-ฟาโรห์ จักรภัทรานน
นั่นคือสิ่งนึงที่เราตกผลึกได้และมันก็คือสิ่งที่เราเป็น เลยหยิบอันนี้เอามาใช้ ถ้าเล่าองค์ความรู้ทางอาชญาวิทยาเฉย ๆ จะน่าเบื่อ เราเลยเล่าผ่านเคสคดีที่เคยเกิดขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งก็มีข้อมูลมากมายในต่างประเทศที่เขาศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มาหลายสิบปีแล้ว
“ ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ ” ทำไมสนใจที่จะทำหนังสือเรื่องนี้
เพราะการถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของวิดีโอมันมีช่วงระยะเวลา นึกภาพนะตอนทำ Ted bunny พี่ตัวเล็กกว่านี้ตั้ง 30 กิโล สองเลยก็คือวันที่ทำเราเด็กกว่านี้ 5-6 ปี นั่นหมายความว่า ทัศนคติของเราในตอนนั้นกับตอนนี้มันก็ต่าง รวมถึงมีข้อจำกัดทาง platform ที่บางอันเราก็พูดไม่ได้และมีข้อจำกัดเรื่ององค์ความรู้และชุดข้อมูลด้วย
พอย้อนกลับไปเช็กวิดีโอเก่า ๆ เรารู้สึกว่าอยากเอาคลิปเก่ามาทำใหม่ มันมีหลายอันที่อยากเสริมข้อมูลตรงนี้ และตอนนั้นได้รับโอกาสจากทางสำนักพิมพ์ว่าอยากลองรวมเล่มไหม เรารู้สึกว่าถ้าให้รวมเฉย ๆ ก็ไปฟังคลิปเราก็ได้ งั้นขอกำหนดประเด็นที่มันชัดเจนเพื่อเกลาสิ่งที่ต้องการจะสื่อ ณ วันนี้ที่เราอาจจะไม่รู้ในวันนั้นออกไปให้ชัดเจน
ชอบถ่ายทอดผ่านตัวอักษรและการเขียนมันอยู่ได้นานกว่า
การอ่านเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราต้องมีสมาธิกับมันมากที่สุด ต้องโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและเราเชื่อว่ามันจะทำให้สารที่ต้องการจะสื่อเข้าถึงคนได้มากขึ้น inspire ของเราคือการกระจายความรู้ความเข้าใจถึงที่มาที่ไปในการเกิดอาชญากรรมและอาชญากรให้สังคมไทยเราได้เห็นว่า จริง ๆ แล้วรากฐานของสิ่งที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “ปีศาจ” ย้อนกลับไปในวันที่เขาถือกำเนิดเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้เขาเป็นเพียงแค่เด็กคนนึงที่มีรอยยิ้มไม่ต่างจากเรา
ในแต่ละคนหนังสือเล่มนี้จะถ่ายทอดให้ดูว่าเหตุการณ์อะไรหรือปมไหนที่เปลี่ยนคนเหล่านี้จากเด็กคนนึงให้กลายมาเป็นปีศาจที่สามารถคร่าชีวิตคนอื่นได้อย่างโหดร้ายเลือดเย็น
The common Thread เป็นหนึ่งในส่วนผสมของหนังสือเล่มนี้ด้วยไหม
The common Thread คือเมนหลักเลยครับ ถ้าเปรียบหนังสือเล่มนี้เป็นผัดกะเพรา The common Thread คือกระทะ ตะหลิว น้ำมัน กระเทียม พริก ใบกะเพรา แก๊สและเนื้อสัตว์ที่อยู่ข้างใน…
เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันคือทัศนคติของเราที่เริ่มจาก The common Thread หนังสือเล่มนี้คือการต่อยอดขึ้นมา ถ้าจะบอกว่าหัวข้อนี้เคยฟังแล้ว ผมก็จะบอกว่า ด้วยวิธีการถ่ายทอดที่แตกต่างออกไปมันจะทำให้คุณรับสารในอีกรูปแบบนึง แล้วคุณอาจจะตกตะกอนได้อีกรูปแบบนึง มันคือการพัฒนาตัวงานของเราเพิ่มเติมขึ้นมาจากที่เรายังไม่ได้เล่า หรือข้อมูลตรงนี้ยังไม่ได้เชื่อมโยง
ตอน The common Thread เราทำเองและรีเสิร์ชกันเอง แต่ครั้งนี้มีหลาย ๆ ตา หลาย ๆ หูช่วยกันดูช่วยกันฟัง ช่วยกันหาข้อมูลเพื่อเกลาเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องออกมาสมบูรณ์ที่สุด เราถ่ายทอดปมของเขาออกมาได้ค่อนข้างชัดเจนมากขึ้น ทั้งตัวเราตอนนี้ที่เห็นเคสคดีมาเยอะ ทั้งอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา เอาสองสิ่งมารวมกัน แล้วผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกหนึ่งเล่มที่อ่านง่ายมาก ๆ
ถ้าคุณอยากเป็น starter มีองค์ความรู้เรื่องนี้เห็นปมที่มาที่ไป หนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราอยากให้เขาอยู่ใน position นั้น เพราะถ้าเราเข้าใจก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์หรือช่วยกันทำให้สังคมเราปลอดภัยมากขึ้น
สิ่งที่ยากที่สุดในการเขียนหนังสือ ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ
ส่วนที่เขียนยากที่สุดในพาร์ทนี้คือการเกลา แต่โชคดีที่เราไม่ได้ทำคนเดียว อย่างที่บอกว่า หนังสือเล่มนี้ต้องยกเครดิตให้กับทุกท่าน อย่างหน้าปกที่คุณเห็น ก่อนที่นักวาดจะวาดเขาอ่านเรื่องราวของแต่ละคนแล้วถ่ายทอดออกมาทำให้ภาพแต่ละภาพที่อยู่ในนี้มันสะท้อนตัวตนของฆาตกรต่อเนื่องแต่ละคนได้ดีมาก ๆ นี่คือสิ่งที่ช่วยให้การเขียนครั้งนี้ไม่ยาก
“การถ่ายทอดเรื่องราวของฆาตกรไม่ใช่เพื่อให้รู้สึกว่าเขาน่าเห็นใจ”
เรื่องที่ทุกครั้งเวลาใครถามว่าเคสไหนอยากถ่ายทอด ยังคงเป็นเรื่องนี้ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย เป็นเคสที่สะเทือนใจและอยากให้คนเห็นจริง ๆ ว่าครอบครัวทำลายเด็กได้ เวลาเราเป็นเด็กคนนึงที่เกิดและเติบโตในครอบครัวที่บิดเบี้ยวมันทำลายคนคนนึงได้มากขนาดไหน คือ เคสของ Fred กับ Rose West อย่างในหนังสือเล่มนี้ทั้งหมดเลยมีแค่ Fred กับ Rose West ที่ฆ่าเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง แต่พอเราไปเห็นที่มาที่ไปของเรื่องราวชีวิตของสองคนนี้ เราได้เห็นว่าสิ่งใดที่สร้างปีศาจนี้ขึ้นมา
เราไม่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของอาชญากรเหล่านี้เพื่อให้คุณรู้สึกว่าพวกเขาน่าเห็นใจ การกระทำของฆาตกรเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่เลวร้าย ผิดบาป ไม่สามารถหาข้ออ้างใด ๆ มาซัพพอร์ตการกระทำของเขาได้ เขาสมควรได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายสูงสุดที่เขาได้ทำ แต่เราจะถ่ายทอดออกมาเพื่อให้คุณเห็นและเข้าใจที่มาที่ไปเพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรในอนาคต
“มนุษย์ทุกคนล้วนมีด้านมืด” ที่แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่ามีอยู่?
ในโลกความเป็นจริงเราจะได้เห็นว่า ชีวิตมนุษย์มีหลากหลายมิติครับ ทั้งด้านที่เราอยากให้คนอื่นเห็น ด้านที่เราอยากเก็บไว้ ด้านที่แม้แต่ตัวเราเองเราอาจจะไม่รู้ เรามั่นใจในตัวเองได้อย่างไรว่าถ้าหากเราอยู่ในสถานการณ์ที่คับขันหรือกดดันบีบคั้น เราจะไม่แสดงด้านมืดอะไรออกมา นั่นคือสิ่งนึงที่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่า “เราจะมีวันรู้ตัวเองจริง ๆ ไหม”
เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทำความเข้าใจตัวเอง การทำความเข้าใจสังคมและเข้าใจกระบวนการที่มาที่ไปว่าอะไรที่หล่อเลี้ยงด้านมืด อะไรที่เป็นศัตรูกับด้านมืด เพื่อลดโอกาสและลดพื้นที่ของด้านมืด และป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนในสังคมให้ได้มากที่สุด
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ “ความไม่รู้” เพราะมันจะทำให้เรารับมืดแบบผิดพลาด และสิ่งที่มาพร้อมกับความทำความเข้าใจและเรียนรู้คือเราจะตัดสินคนอื่นน้อยลง
Active Shooter และ Serial Killer ต่างกันอย่างไร
ต่างกันตรงที่ มูลเหตุชักจูง, กระบวนการที่มาที่ไปต่างและเป้าหมายในการก่อเหตุ
Serial Killer หรือฆาตกรต่อเนื่องมีเหตุปัจจัยเยอะมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างจาก Active Shooter หรือมือปืนกราดยิงเลยก็คือ ไม่ใช่ Serial Killer ทุกคนที่ต้องการชิงพื้นที่สื่อ ไม่ใช่ Serial Killer ทุกคนที่คร่าชีวิตเพื่อให้ตัวเองมีชื่อเสียง ยกตัวอย่างง่าย ๆ จากเคสในหนังสือเล่มนี้ Samuel Little ที่เขาพูดว่า “คุณรู้ไหมว่าทำไมคุณไม่เคยจับผมได้ เพราะผมไม่เคยเข้าไปอยู่ในโลกของคุณ” เหยื่อของเขาคือบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น Homeless หรือ Sex Worker กลุ่มคนที่อยู่ในเงาของแสงแห่งกฎหมายและความยุติธรรม
นี่คือเหตุผลที่เราถ่ายทอดเรื่องราวของ Samuel Little เพื่อทำให้สังคมได้รู้ว่า ไม่ใช่ฆาตกรต่อเนื่องทุกคนที่อยากได้พื้นที่สื่อ เขาอาศัยจากการที่คนเหล่านี้ถูกมองข้ามจากผู้บังคับใช้กฎหมายหรือแม้กระทั่งสื่อ
นำเสนอให้น้อยที่สุดและลดการให้ฉายา กับ Active Shooter
เพราะเป้าประสงค์ของ Active Shooter คือเขาต้องการชิงพื้นที่สื่อ และ Spread ความหวาดกลัวนี้ออกไป ใช้วิธีตีตั๋วเที่ยวเดียวและจะทำให้โลกนี้เจ็บมากที่สุด เสียหายที่สุดและโลกต้องจำชื่อฉัน
เรื่องราวการฆาตกรรมที่จมดิ่งไปกับเรื่องราวนั้นมากที่สุด
เคสที่ดำดิ่งที่สุดยังคงเป็นเรื่องของ Fred กับ Rose West อยู่ แต่ตอนนี้มีอีกหนึ่งเคสที่มีโอกาสได้ทำ คือเรื่องของการสะกดรอยติดตามรังควานหรือที่เรียกกันว่า Stalking Case เพราะเชื่อไหมว่าในตอนนี้ที่มีใครสักคนสะกดรอยติดตามเรา ไปยืนอยู่หน้าคอนโด ไปนั่งรอตรงล็อบบี้ แล้วเราไปแจ้งความ สิ่งที่จะได้กลับมาคือ “เขาทำอะไรเราแล้วหรือยัง”
นี่คือสิ่งที่เหยื่อของ Stalker กำลังเผชิญ เขาไม่มีแม้กระทั่งกฎหมายคุ้มครอง อย่างเช่น อดีตคู่รักที่เลิกกันแล้วตามง้อ คำว่า ง้อ กับ Stalking มันมีเส้นบาง ๆ ระหว่าง ความโรแมนติกกับความน่ากลัว และเคสที่มักจะเจอกับ Stalking Case มากที่สุดคือ “อดีตคู่รัก” แต่เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ได้นึกถึงเพราะเรายังติดกับดักคำว่าง้ออยู่
เคสนั้นก็คือเคสของ “Lauren McCluskey” เธอเป็นนักศึกษาอนาคตไกลและเป็นนักกรีฑาโอลิมปิกได้แชมป์เยอะมาก อายุ 21 ปีตอนที่เสียชีวิต เธอคบกับแฟนหนุ่มคนนึงที่เจอในคลับ และรู้สึกว่าความสัมพันธ์นี้คือ Toxic Relationship สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Lauren ถูกแฟนหนุ่มคนนี้คุกคามและติดตาม เธอเลยไปแจ้งตั้งแต่หอพัก มหาวิทยาลัย แจ้งตำรวจถึง 3-4 ครั้งและนำหลักฐานทั้งหมดไปด้วยว่าถูกติดตาม โทรข่มขู่ ตำรวจก็ตอบกลับว่า “เขาทำอะไรเธอหรือยัง”
จนท้ายที่สุดเธอเสียชีวิตในขณะที่กำลังคุยโทรศัพท์กับแม่ของเธอ นั่นคือสิ่งที่เศร้ามากเพราะ Lauren คือคนนึงที่พยายามทำทุกอย่างแล้ว จะเห็นได้เลยว่าจากเคสสะกดรอยติดตามรังควานจนไปสู่คดีฆาตกรรมมันมีโอกาสที่มันจะหยุดยั้งความอันตรายและช่วยชีวิตของ Lauren McCluskey ได้
ข้อมูลและ Case Study มากมายทำให้เห็นแล้วว่า การสะกดรอยติดตามรังควานนั้นนำไปสู่อาชญากรรมอันตรายที่ร้ายแรงกว่าเสมอ ตั้งแต่การบุกรุก ทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดหรือแม้กระทั่งการฆาตกรรม
คิดอย่างไรกับการเบลมเหยื่อ หรือ Victim Blaming
“ถูกลวนลามเพราะแต่งตัวโป๊ ถูกข่มขืนเพราะไม่ระวังตัวเอง ไปอยู่ที่เปลี่ยวทำไม”
‘เบลมเหยื่อ’ เช่น การแต่งตัวกับการล่วงละเมิด ถึงแม้ว่าเราจะเริ่มเห็นได้ชัดว่ามันถูกถ่ายทอดและนำเสนออกมาจนทัศนคตินี้เริ่มน้อยลงไป แต่เชื่อไหมเคสเบลมเหยื่อในลักษณะการแต่งตัวนี้ยังมีอยู่ ทั้งที่การแต่งตัวนั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล คือความชอบ ทุกคนมีความสุขกับมัน แต่กลับกลายเป็นว่าหลายคนถูกคุกคาม เช่น คอมเมนต์หรือพูดในทาง Body Shaming สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาคือ ถูกโยนความผิดว่าแล้วใส่ชุดแบบนี้ทำไม แต่งตัวโป๊ทำไม
Victim Blaming ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป อย่างกรณี “ไปอยู่ที่เปลี่ยวทำไม” ในประเด็นนี้เราสามารถมองได้หลายแง่มุม คำถามคือ รัฐที่ควรจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับสังคมทำไมถึงปล่อยปละละเลยให้มีที่เปลี่ยว และต้องยอมรับว่าที่เปลี่ยวหลาย ๆ ที่อยู่กลางเมือง
นี่คือสิ่งที่เราอยากให้ขยับมาตั้งคำถามก่อนที่จะเบลมไปที่เหยื่อ มันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เขาถูกกระทำ ไม่เช่นนั้นนอกจากเขาจะกลายเป็นผู้ถูกกระทำแล้ว เขายังต้องมารับมือกับการที่สังคมมาย่ำยีเขาอีก
ลักษณะของการโทษการเบลมเหยื่อมันทำให้หลาย ๆ คนไม่กล้าก้าวออกจากความสัมพันธ์ Toxic
-ฟาโรห์ จักรภัทรานน
เพราะฉะนั้นแล้ว เราควรลดวัฒนธรรมนี้หรือ Support เหยื่อให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันอย่าลืมนะครับว่า เหยื่อคืออีกด้าน ผู้ถูกกล่าวหาคืออีกด้าน เราต้องสร้างระบบและสภาวะสังคมที่สามารถซัพพอร์ตเหยื่อทำให้เหยื่อรู้สึกว่าเขามีพื้นที่ปลอดภัย กล้าที่จะออกมาพูดแล้วมีคนโอบรับเขา
แต่ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งผู้ถูกกล่าวหาเขาก็มีสิทธิ์ ที่จะได้รับการพิสูจน์ว่าเขาบริสุทธิ์ ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพราะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยมันมีไว้สำหรับทุกคน เพราะหลักในการสันนิษฐานว่าคนนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้มีไว้ปกป้องคนร้าย แต่มีไว้เพื่อปกป้องคนธรรมดาอย่างเราทุกคนที่วันนึงอาจจะกลายเป็นแพะรับบาป
ทำไมเราต้องศึกษาเรื่องราวของฆาตกรเหล่านี้
ถ้าเราเข้าใจการกระทำของคนเหล่านี้ เราจะเข้าใจถึงที่มาที่ไปและจะหยุดยั้งการเกิดขึ้นมาของปีศาจเหล่านี้ได้ ถ้ามองอาชญากรเป็นเหมือนแอปเปิลที่มันเน่าเสียอยู่บนต้น สิ่งที่สังคมเรากำลังจัดการคือ เด็ดมันทิ้ง เด็ดมันทิ้งและเด็ดมันทิ้งทีละลูก แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าแอปเปิ้ลมันเน่าเพราะอะไร เน่าเพราะแมลงหรือเน่าเพราะราก
ตั้งแต่ผลไม้ ก้าน กิ่ง ใบ ดอก ลำต้น ลงไปถึงราก มันมีปัจจัยมากมายกว่าจะมาเป็นผลไม้ที่เสียนี้ แต่แสงสปอร์ตไลท์ทุกวันนี้ส่องไปได้ถึงแค่ผลไม้ เราไม่เคยได้ทำความเข้าใจกระบวนการทางความคิดและป้องกันไม่ให้ผลไม้ลูกต่อ ๆ ไปเน่าเสียแบบนี้อีก เราจัดการด้วยการเด็ดทิ้งเสมอมา
“คำถามคือ เราจะมีแอปเปิ้ลอีกกี่ลูกให้เด็ดทิ้ง”
การศึกษาหรือบอกเล่าเรื่องราวของอาชญากรหรือฆาตกรต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องของความบันเทิงและไม่ใช่เพื่อสื่อว่าการกระทำนั้นชอบธรรมหรือสมเหตุสมผล แต่เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุของการเป็นฆาตกรและค้นหาแรงจูงใจภายใต้การกระทำเพื่อพัฒนามาตรการป้องกันการเกิดเหตุในอนาคต
และหากคุณอ่านเรื่องราวเหล่านี้แล้วเกิดความรู้สึกดำดิ่งหรือจมลงไปกับเรื่องราวอันโหดเหี้ยม สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้รับสารอย่างเรา ๆ จะต้องทำให้ได้ คือการแยกแยะและเรียนรู้จากข้อเท็จจริง ไม่ใช่จากความรู้สึก อีกทั้งยังต้องการแยกสถานะของผู้รับสารออกมาจากผู้ร่วมเหตุการณ์ เรียกง่ายๆ ว่าทำตัวเป็น “ตะแกรง” กรองเรื่องราวและกรองเอาอารมณ์ออกจากข้อเท็จจริง
หากเริ่มรับรู้เรื่องราวเหล่านี้แล้วหดหู่ ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราเกินกว่าจะรับไหว ผมขอแนะนำให้ผู้อ่านหยุดการรับสารทันที และเอาตัวเองออกมาจากตรงนั้นก่อน ความวิตกและหดหู่ภายในจิตใจเช่นนี้บางครั้งก็กินระยะเวลานานแตกต่างกันออกไป
ในฐานะของผู้รับสาร ควรโฟกัสแค่ชุดข้อมูลพร้อมนำ “ตะแกรง” ที่กล่าวไปในข้างต้นกรองไว้แค่ใจความสำคัญและถามตัวเองว่า “จากเรื่องทั้งหมดนี้ เราได้เรียนรู้อะไร เราจะสำรวจจิตใจฆาตกรได้อย่างไร” การกรองนี้จะทำให้เราเข้าใจฆาตกรในมิติที่มีแต่ข้อเท็จจริง พร้อมทั้งสามารถหยิบชุดข้อมูลมาใช้ต่อได้ว่า ต้นตอและสาเหตุที่สร้างปมในใจของคนคนหนึ่งคืออะไรกันแน่ โดยปราศจากอารมณ์และความรู้สึก – ฟาโรห์ จักรภัทรานน ผู้เขียน
“อย่าตัดสินใครจนกว่าคุณจะได้ใส่รองเท้ามอคคาซินของเขาเดินสองดวงจันทร์” ภาษิตของอเมริกันพื้นเมืองชนเผ่าเชโรกีที่กล่าวโดยนัยว่า ให้ละเว้นจากการตัดสินคนอื่น
หนังสือ “ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ” คือรองเท้ามอคคาซินของอาชญากรระดับต้นในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา แน่นอนว่ารองเท้าคู่นี้อาจไม่พอดี เพราะไม่มีใครที่สามารถตัดเย็บชีวิตอีกคนขึ้นมาใหม่แบบเป๊ะ ๆ ได้ รายละเอียดที่เรายังไม่รู้อีกนับไม่ถ้วนล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลซึ่งกันและกัน
แต่เมื่อเราเปิดใจให้กว้างพอเราจะตระหนักได้ว่า เราทุกคนล้วนมีหลายด้าน ในดำมีขาว ในขาวมีดำ เราจะเข้าใจและรู้เท่าทันด้านมืดของตนเองและสุดท้ายหากคนในสังคมได้ศึกษาเรื่องนี้จะทำให้ลดโอกาสเกิด “ปีศาจ” อย่างที่เราเรียกกัน
บทความโดยสำนักพิมพ์ Sophia
หนังสือไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ
ฟาโรห์ จักรภัทรานน The Common Thread เขียน
สำนักพิมพ์ Sophia
สั่งซื้อได้ที่ Amarinbook.com
บทความที่เราอยากแนะนำ
” ทฤษฎีควอนตัม ” และ เกาะเฮลโกแลนด์ แห่งทะเลเหนือ กับการค้นพบแนวคิดที่อธิบายข้อเท็จจริงจอมพยศ
โบยบินสู่ “อิสระ” ด้วยการเอาชนะ “ความกลัว” ไปกับอีดิธ อีเกอร์