งานของเด็กคือการเล่น

หนึ่ง – เด็กจะต้องเล่นเดี๋ยวนี้
สอง – เด็กๆ จะต้องสุขภาพแข็งแรงเดี๋ยวนี้
สาม – เด็กๆ จะต้องมีความสุขเดี๋ยวนี้

ช่วงนี้พวกเราติดซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo หรือ อูยองอู ทนายอัจฉริยะ ที่กำลังฉายทาง Netflix มากๆ เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนก็คงเป็นเหมือนกัน เพราะเรื่องนี้มีองค์ประกอบที่จะทำให้ติดงอมแงมได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความสนุกของเรื่อง คาร์แรกเตอร์แสนน่ารักของทนายอูยองอู กราฟิกทั้งวาฬและโลมาสุดอลังการ การถ่ายทอดโลกของกฎหมายและทนายความออกมาได้ไม่น่าเบื่อ และที่สำคัญ ประเด็นละเอียดอ่อนที่กระตุ้นให้คนดูตั้งคำถามถึงสิ่งรอบตัว

นอกเหนือจากการเพิ่มความรู้ความเข้าใจในผู้ที่มีอาการออทิสติกที่มีตลอดทุกอีพีแล้ว ในอีพี 9 ถือว่าเป็นตอนหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในอีพีนี้พูดถึงคดีการล่อลวงผู้เยาว์ 12 คน โดยมีจำเลยคือ บังกูปง (ตดดังปุ๋ง) เขาเป็นคนเรียนเก่ง จบจากมหาวิทยาลัยโซล มีแม่เป็นผู้อำนวยการสถาบันกวดวิชามูจิน จึงทำให้เขามีช่องทางลักพาตัวเด็กๆ ไป ‘เล่น’ กันที่เนินเขา ก่อนจะปล่อยตัวกลับมา

ข้อความ 3 บรรทัดแรกในบทความนี้เป็นคำประกาศของกองทหารปลดแอกเด็ก นำโดย บังกูปง เขาใช้สื่อสารกับเด็กก่อนที่จะลงมือเล่นกันอย่างเต็มที่ ก่อนถูกจับกุมและขึ้นศาลจากความผิดลักพาตัว คำประกาศดังกล่าวถูกเปล่งอีกครั้งในศาลหลังพิจารณาคดีเสร็จ ภาพที่บังกูปงและเด็กๆ 12 ชีวิตตะโกนคำประกาศ หัวเราะ แสดงท่าทาง และโผเข้ากอดกันยังประทับใจน้องนากจนถึงตอนนี้

สิ่งหนึ่งนอกเหนือจากความประทับใจและความน่ารักของอูยองอู บังกูปง ตลอดจนเด็กๆ แล้ว สิ่งที่ซีรีส์ตอนนี้ยังชวนให้ผู้ชมคิดตามต่อก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความกดทับอันเนื่องมาจากความกดดันที่ทำให้เด็กไม่ได้เป็นเด็กอย่างใจนั่นเอง เพราะเด็กในเรื่องล้วนถูกพ่อแม่และสังคมรอบข้างผลักดันให้มุ่งหน้าเรียนอย่างเดียวจนลืมทุกสิ่ง เด็กเหล่านี้ต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปเรียนในโรงเรียนตามปกติ จบจากนั้นยังต้องเข้าเรียนต่อในโรงเรียนกวดวิชาต่อเนื่องจนถึงสามทุ่ม กินแต่คิมบับและรามยอนไร้สารอาหารเพื่อความรวดเร็วในการใช้ชีวิต โดยเด็ก ๆ จะถูกปล่อยให้หิวโหยเพราะจะต้องอดทนเรียนให้จบจึงจะถูกปล่อยออกไปหาอะไรกินได้

สิ่งเหล่านี้ล้วนกดทับเด็กจนไม่ได้มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น ตลอดจนหลงลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดอันส่งผลต่อพัฒนาการการเติบโตของพวกเขาไปอย่างสนิทโดยเฉพาะการ “เล่น”

“งานของเด็กคือการเล่น”

ในหนังสือ “สุดยอดเคล็ดลับพัฒนาลูก” เขียนโดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ บอกไว้ว่า “ผู้ใหญ่ควรปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างเสรีและกำหนดเป้าหมายด้วยตนเอง เรามีหน้าที่เพียงแค่คอยดูแลให้เด็กสามารถทำตามจุดมุ่งหมายนั้นได้ประสบความสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอน อย่าไปบังคับเด็กให้มากนักว่าเขาควรทำอะไรหรือควรทำอย่างไร”

นอกจากนี้คุณหมอยังพูดถึงความสำคัญของ Free Play อันหมายถึง การเล่นอย่างเสรี ว่าสิ่งนี้จะช่วยพัฒนาสมองได้ดีกว่าการเล่นที่มีจุดมุ่งหมาย ร่วมด้วยข้อมูลเพิ่มเติมที่เขียนประกอบไว้ในหนังสือ “เลี้ยงลูกให้ได้ดี 1-200” ว่า “เด็กจะเล่นด้วยตัวเองไม่มีใครบังคับตามช่วงพัฒนาการ พัฒนาการที่สำคัญมี 2 ช่วง คือ ช่วงอายุ 2-3 ปี และช่วงอายุ 4-5 ปี ซึ่งอิริคสันเรียกว่าเป็นวัยพัฒนาด้วยตัวเอง (Autonomy) และริเริ่มสิ่งใหม่ (Initiation) ตามลำดับ ที่เราไม่ต้องบังคับให้เล่นเพราะที่แท้แล้วการเล่นเป็นหน้าที่คือ Function ที่อายุ 2-3 ขวบ และ 4-5 ขวบนี้ เด็กตื่นเช้ามาเพื่อเล่นจริงๆ ไม่มีภารกิจอื่น”

“ประโยชน์ของการเล่นที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือพัฒนาการของวิธีคิด ระหว่าง 2-7 ขวบอันเป็นช่วงวัยที่เพียเจต์เรียกว่า Pre-Operation เด็กจะพัฒนาลำดับชั้นของวิธีคิดมากมาย เป็นขั้นเป็นตอน ส่วนที่ 2 คือ พัฒนาการของ Executive Function หรือ EF คือความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ Self Control, Working Memory และ Cognitive Flexibility”

ในหนังสือยังบอกต่อไปด้วยว่า “เรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบแล้วละเลยคือ เวลาที่เด็กจะพัฒนาความสามารถเหล่านี้มีเวลาวิกฤต (Critical Period) ในตัวของมันเอง นั่นคือประมาณก่อนอายุ 9 ขวบ คือเวลาที่สมองของมนุษย์จะเริ่มกระบวนการ Synaptic Pruning คือสลายจุดเชื่อมต่อประสาทที่ไม่ค่อยได้ใช้หรือฝึกปรือ กระบวนการนี้ไปสิ้นสุดที่อายุประมาณ 15 ปี นั่นหมายความว่าหากเรามิได้ให้เด็กเล่นมากพอ เขาอาจจะไม่เหลือวิธีคิดหรือวงจรประสาทที่รองรับวิธีคิดเหล่านี้อีก พัฒนาการหลายเรื่องนี้ เกิดจากการเล่น มิได้เกิดจากการเกณฑ์เข้าห้องเรียนหนังสือ”

ตอนจบของอีพีนี้อาจทำให้ใครหลายคนตั้งคำถามถึงวัยเด็กของตนเองว่าเราเติบโตมาอย่างไร และยิ่งหากเป็นพ่อแม่ที่มีลูกด้วยแล้วล่ะก็ อาจเป็นประโยชน์และชวนทบทวนถึงวิธีการเลี้ยงลูกของตัวเองได้

เพราะต้องไม่ลืมว่าหลายครั้ง ความฝันมากมายที่ใส่ลงไปในเด็กนั้น อาจเป็นความฝันของเรา ไม่ใช่ความฝันของเด็ก

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และเด็กทุกคน

บทความโดย Amarin Kids


พบกับ สุดยอดเคล็ดลับพัฒนาลูก

และ เลี้ยงลูกให้ได้ดี 1-200

เขียนโดย นายแพทย์ประเสริฐประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ได้ที่นี่

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close