ณ ใจกลางของความเจ็บปวด: เรื่องราวจากปลายปากกาของฮันกังผู้ใช้วรรณกรรมตั้งคำถามต่อโลก

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา The Vegetarian อาจได้รับการจดจำในฐานะผลงานวรรณกรรมที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในแวดวงวรรณกรรม บ้างก็ได้รับการจดจำในฐานะงานเขียนที่ได้รับรางวัล International Booker Prize ประจำปี 2016 และตลอดหลายปีหลังจากนี้ นวนิยายเรื่องนี้อาจได้รับการจดจำในฐานะผลงานสร้างชื่อของ ฮันกัง นักเขียนหญิงชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม แต่หากจะต้องนิยามอย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด นวนิยายเรื่องนี้คืองานศิลปะอันงดงามทว่าบ้าคลั่งของ “ความเจ็บปวด”

ครั้งหนึ่ง ในการสัมภาษณ์ของ Booker Prize Foundation ฮันกังเคยถูกถามด้วยคำถามที่น่าจะอยู่ในใจของหลายๆ คนเมื่อได้อ่านงานของเธอว่า สิ่งใดที่ดึงดูดให้เธอเลือกเล่าเรื่องราวที่มืดมนและการกระทำของมนุษย์ ดังที่ปรากฏออกมาเป็นเรื่องราวที่ทั้งงดงามและน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกันอย่าง The Vegetarian ซึ่งคำตอบอันงดงามและหนักแน่นของเธอก็น่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจเรื่องราวสุดขีดใน The Vegetarian บ้างไม่มากก็น้อย

ฉันต้องการจัดการกับคำถามที่ฉันมีเกี่ยวกับโลกและมนุษยชาติผ่านเนื้อหาสามส่วนที่เกี่ยวกับสองพี่น้องผู้ร้องไห้ในความเงียบงัน คนหนึ่งต้องการหยุดการเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยปฏิเสธที่จะกินเนื้อสัตว์และเชื่อว่าเธอกลายเป็นพืช และอีกคนหนึ่งที่ต้องการยื้อยุดน้องสาวของเธอออกจากความตาย ทั้งที่ตัวเองก็มีความขัดแย้งและเจ็บปวด เมื่อฉันเขียนนวนิยาย ฉันพบว่าตัวเองพยายามไปให้ถึงจุดสิ้นสุดของคำถาม – ไม่ใช่คำตอบ – ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดฉันให้เริ่มเขียนมัน เพื่อเจาะลึกคำถามเกี่ยวกับความหมายของการเป็นมนุษย์ ฉันจำเป็นต้องใช้ฉากและภาพที่เข้มข้นเช่นนั้น

– ฮันกัง จากบทสัมภาษณ์ของ Booker Prize Foundation

เรื่องสั้นสามตอน สี่สุ้มเสียง ซึ่งประกอบขึ้นเป็นนวนิยายเรื่องนี้ต่างบอกเล่าเรื่องราวอันเป็นเอกเทศแต่กุมความเจ็บปวดบางอย่างร่วมกันเอาไว้ โดยเริ่มต้นจากเรื่องราวของหญิงสาวที่ตัดสินใจเลิกกินเนื้ออย่างกะทันหัน ฮันกังถ่ายทอดความเจ็บปวดนั้นด้วยภาษาที่เรียบง่าย งดงาม แต่ดิบเถื่อนบ้าคลั่งและเย็นเยือกถึงขั้วหัวใจ ระหว่างบรรทัดล้วนนำมาซึ่งคำถามทั้งต่อเรื่องราวและต่อตัวผู้อ่าน ว่าความเจ็บปวดนั้นเกิดขึ้นดำเนินไปเพียงเพราะคนคนหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเอง หรือความเจ็บปวดนั้นดำรงอยู่มาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่เพิ่งจะถูกปลดสลักและปะทุขึ้นมาผ่านความเปลี่ยนแปลงนั้นกันแน่

ฮันกังเคยเล่าเอาไว้ผ่านบันทึกท้ายเรื่อง The Vegetarian ว่า นวนิยายเล่มนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นชื่อ “The Fruit of My Woman” ของเธอเอง ซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งกลายเป็นพืชที่ระเบียงอพาร์ตเมนต์ ผ่านไปหลายปี เธอจึงเขียนเรื่องราวทั้งสามตอนของ The Vegetarian ขึ้น ตั้งแต่ช่วงฤดูหนาว ปี 2002 จนถึงฤดูร้อน ปี 2005 และแม้ว่าเมื่อแยกกันอ่าน แต่ละเรื่องดูเหมือนจะมีเรื่องราวของตัวเอง ทว่าเมื่อมารวมกัน มันกลับกลายเป็นนิยายเรื่องยาวที่พูดถึงเรื่องราวอื่นที่ไม่ใช่แค่เรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งในนั้น—และเป็นเรื่องที่ฮันกังอยากพูดถึงจริงๆ

นี่ไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกและชิ้นเดียวของฮันกังที่พยายามดันเพดานของคำถามใหม่ๆ ให้สูงขึ้นไปผ่านศิลปะการเขียน ฮันกังเปิดตัวในวงการวรรณกรรมในฐานะกวีด้วยการตีพิมพ์บทกวีห้าบท รวมถึง “ฤดูหนาวในโซล” ในฉบับฤดูหนาวของ Munhak-gwa-sahoe (วรรณกรรมและสังคม) ในปี 1993 เธอเริ่มต้นอาชีพนักเขียนนวนิยายในปีถัดมาโดยชนะการประกวดวรรณกรรมฤดูใบไม้ผลิของ Seoul Shinmun ในปี 1994 ด้วยเรื่อง “สมอสีแดง” เธอตีพิมพ์รวมเรื่องสั้นเล่มแรก Yeosu (สำนักพิมพ์ Munji) ในปี 1995 และในปี 1998 เธอเข้าร่วมโครงการเขียนนานาชาติที่มหาวิทยาลัยไอโอวาเป็นเวลาสามเดือน โดยได้รับการสนับสนุนจาก Arts Council Korea

ผลงานที่ตีพิมพ์ของเธอรวมถึงรวมเรื่องสั้น Fruits of My Woman (2000), Fire Salamander (2012); นวนิยาย เช่น Black Deer (1998), Your Cold Hands (2002), The Vegetarian (2007), Breath Fighting (2010), Greek Lessons (2011), Human Acts (2014), The White Book (2016), และ I Do Not Bid Farewell (2021) รวมถึงหนังสือกวีนิพนธ์ I Put the Evening in the Drawer (2013)

เธอได้รับรางวัล Korean Novel Award ครั้งที่ 25 จากนวนิยายขนาดสั้น “Baby Buddha” ในปี 1999, รางวัล Today’s Young Artist Award ประจำปี 2000 จากกระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลี, รางวัล Yi Sang Literary Award ในปี 2005 จากเรื่อง “Mongol Spot”, และรางวัล Dongri Literary Award ในปี 2010 จากเรื่อง “Ink and Blood”

เธอได้รับรางวัล Manhae Literary Prize จาก Human Acts (2014) และรางวัล Hwang Sun-won Literary Award (2015) สำหรับนวนิยายขนาดสั้น While One Snowflake Melts นวนิยายขนาดสั้นล่าสุดของเธอ Farewell ได้รับรางวัล Kim Yujung Literary Prize ในปี 2018

The Vegetarian ชนะรางวัล Man Booker International Prize ในปี 2016 Atti umani (Human Acts) ชนะรางวัล Malaparte Prize ในอิตาลีปี 2017 เธอได้รับรางวัล San Clemente Prize จาก The Vegetarian ในสเปนปี 2019 เธอได้รับเลือกให้เป็นนักเขียนคนที่ห้าสำหรับโครงการ Future Library ในประเทศนอร์เวย์ในปี 2019 ผลงาน “Dear Son, My Beloved,” จะถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุด Deichman Library ในออสโลจนกว่าจะถึงกำหนดตีพิมพ์ในปี 2114 ขณะที่นวนิยายล่าสุดของเธอ I Do Not Bid Farewell ได้รับรางวัล Medicis Prize ในฝรั่งเศสปี 2023 และรางวัล Émile Guimet Prize ในปี 2024 ก่อนที่เธอจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2024

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาและตลอดหลายปีต่อจากนี้ The Vegetarian และผลงานเล่มอื่นๆ ของฮันกังจะยังคงถูกอ่าน ตีความ ให้ความหมายและคำอธิบายหลากหลายต่อความเจ็บปวดอันเป็นสากลและเข้มข้นไปด้วยคำถามแสนท้าทายอย่างนี้เรื่อยไป ด้วยองค์ประกอบมากมายที่ล้วนควรค่าแก่การตีความและการได้ลองสัมผัสประสบการณ์จากการอ่านสักครั้ง

แต่หากสุดท้ายจะต้องตอบอย่างเรียบง่ายว่าทำไมเราจึงควรได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้ คำตอบก็คือความเจ็บปวดนั้นล้วนมีความเจ็บปวดของเราทุกคนซ่อนอยู่…


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ทำความรู้จัก ‘ อายาสึจิ ยูกิโตะ ’ ผู้เสกความลึกลับผ่านตัวหนังสือกับนิยายสืบสวนชุดคฤหาสน์ฆาตกรรม

“ประหลาด” หรือ “มหัศจรรย์” แล้วแต่เราจะเลือกมอง : วรรณกรรมจากปลายปากกาของ อาร์. เจ. ปาลาซิโอ

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close