ทำความเข้าใจและตีสนิท กับ ความกังวล เพื่อตัวตน ความสัมพันธ์และอิสรภาพที่แท้จริงของชีวิต

เพราะ ความกังวล คือเพื่อนของเรา หนังสือ ใช้สมองพลังบวก เอาชนะอารมณ์ลบ จะพาคุณไปค้นหาแนวทางค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง เพื่อเข้าใกล้ชีวิตที่รักตัวเองมากขึ้น ในวันที่รอบตัวมีแต่เรื่องน่ากังวล

“สบายใจ VS กังวล” ถ้าให้เลือกสองสิ่งนี้ ไม่ว่าใครคงเลือกด้านความสบายใจมากกว่า แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราสามารถเลือกที่จะรู้สึกด้านบวกได้อย่างเดียว เพราะความรู้สึกด้านลบก็พร้อมจู่โจมโดยที่เราไม่รู้ตัว และบ่อยครั้งที่เราเพิกเฉยความรู้สึกด้านลบเพราะอาจจะมองว่ามันเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ฉุดรั้งไม่ให้เรามีความสุข อาจจะมองว่าเป็นความรู้สึกที่จัดการได้ยากหรืออาจจะเป็นเพราะสังคมหล่อหลอมให้เราไม่ยอมรับความรู้สึกด้านลบ

หนังสือ ใช้สมองพลังบวก เอาชนะอารมณ์ลบ เขียนโดย อูโบย็อง นักจิตบำบัด ที่ช่วยปลูกจิตวิทยาเชิงบวกให้แก่บริษัทชั้นนำมากมายในเกาหลีใต้ เธอจะพาเราไปค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่าความกังวลจะกลายเป็นยาพิษถ้าซ่อนมันไว้ และเป็นยาซ่อมใจถ้ายอมรับมัน ด้วยการเปลี่ยนความกังวลให้กลายเป็น “เพื่อน” ไม่ใช่ “ศัตรู” โดยเนื้อหาภายในเล่มจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญ คือ ความคิดกังวล, ความรู้สึกกังวล, นิสัยกังวล, ความสัมพันธ์ที่กังวลและชีวิตที่กังวล 

หนังสือ “ใช้สมองพลังบวก เอาชนะอารมณ์ลบ”

ความกังวล เป็นเพื่อนของมนุษย์ทุกคน

แนวคิดของหนังสือเล่มนี้น่าสนใจหลายจุด โดยเฉพาะการที่ให้เราทุกคนทำความรู้จักและตีสนิทกับอารมณ์ลบหรือความกังวลของตัวเอง เพราะไม่มีใครหนีความกังวลได้พ้น สิ่งนี้เป็นเหมือนเงาตามตัวที่จะอยู่ติดกับเราตลอดไป ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ขี้อาย พูดน้อย เป็นคนชอบเข้าสังคมหรือเป็นคนเก่งระดับมืออาชีพก็ล้วนรู้สึกได้ทั้งนั้น

เหตุผลที่คนเรารู้สึกกังวลนั้น เป็นเพราะความกังวลคือความสามารถในการเอาตัวรอดของมนุษย์ที่ติดตัวมาพร้อมกับความต้องการขั้นพื้นฐาน

มนุษย์พัฒนาและวิวัฒนาการสมองให้ตอบสนองของเรามี “อคติเชิงลบ” ที่รับรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น  เราเรียกทุกความรู้สึกและประสาทสัมผัสทั้งหมดที่ทำหน้าที่ผสมผสานกันซึ่งเกิดขึ้นขณะที่สมองตั้งใจทำงานเพื่อความอยู่รอดว่า “ความกังวล” 

เพราะไม่รู้ จึงกังวล 
เพราะกลัว จึงกังวล
เพราะอยากเอาตัวรอด จึงกังวล

ความกังวลจึงเป็นเหมือน “สัญญาณเตือนสำหรับมนุษย์”  เวลาตกอยู่ในอันตราย ความกังวลจะเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการปกป้องชีวิต  เหมือนกับคนสมัยก่อนที่ต้องระแวดระวังหมีหรือเสือที่อยู่ในป่าเสมอ เหมือนกับเราในสมัยนี้ที่ต้องคอยกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การเงิน การทำงาน ความรักหรือความสัมพันธ์ เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับหมีหรือเสือในปัจจุบัน

ชีวิตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และเราอาจพบเจอกับความยากลำบากได้ทุกเมื่อ  จงอ้าแขนรับทุกช่วงเวลาของชีวิต  


หากกังวลแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ให้ลองวาดภาพมันออกมา

1.เมื่อรู้สึกกังวลแล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ลองออกจากเหตุการณ์แล้วหาที่เงียบๆ เพื่อทำสมาธิ
2.นั่งตัวตรง หายใจเข้าและออกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกผ่อนคลาย  
3.เมื่อรู้สึกผ่อนคลายขึ้นแล้วให้หลับตาลงแล้วนึกถึงเรื่องที่ทำให้คุณไม่สบายใจ 
4.สัมผัสและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย เสียงหัวใจ ลมหายใจหรือความรู้สึกเจ็บปวด
5.ลองสำรวจดูว่าส่วนไหนของร่างกายรู้สึกอย่างไร สัมผัสร่างกายที่จับสังเกตความกังวล
6.ลืมตาขึ้นแล้ววาดภาพความกังวลลงในกระดาษ  

ลองจินตนาการว่า ถ้าความกังวลที่เรารู้สึกมีรูปร่างหน้าตา หน้าตาของมันจะเป็นอย่างไร  เป็นคน สัตว์ สิ่งไม่มีชีวิต หรืออะไรก็ได้  ถ้าความกังวลของคุณมีใบหน้า จะวาดสีหน้าของมันลงไปด้วยก็ได้  จะวาดเป็นก้อนๆ ที่ไม่มีรูปทรงชัดเจนหรือวาดเป็นสีก็ได้  ลองวาดภาพความกังวลที่คุณรู้สึกออกมา นี่คือช่วงเวลาแรกที่คุณจะได้เผชิญหน้ากับความกังวลของตัวเอง


เมื่อทำความรู้จัก ความรู้สึกกังวล เราจะรักตัวเองมากขึ้น

ยิ่งรู้จักตัวเองและความรู้สึกดีเท่าไร
เราจะรักสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ในตอนนี้มากขึ้นเท่านั้น

– บารุค สปิโนซา นักปรัชญา

ในบางครั้งสังคมก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่องความรู้สึก เราจึงไม่คุ้นเคยกับการรู้จักสำรวจและทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง โดยเฉพาะความรู้สึกด้านลบ เราปล่อยให้มันเกิดขึ้นและผ่านมันไปเฉยๆ แต่ทุกความรู้สึก รวมถึงความกังวลเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น

หากเลือกที่จะเก็บกดความรู้สึกนี้ไว้เพื่อหวังให้มันหายไปเอง อาจเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่มันจะไม่หายไป แต่ต้องรู้สึกถึงมันให้มากพอและระบายมันออกมาผ่านวิธีการที่เหมาะสม  หากไม่ทำเช่นนี้พลังงานความรู้สึกที่ถูกสะสมไว้จะระเบิดออกมาในที่ที่ไม่เหมาะสม  

การเมินเฉยต่อความรู้สึก สุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรกับการหันหน้าหนีตัวเอง  ถ้าไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง จะไม่สามารถเข้าใจตัวเองได้  และแม้จะเจอเรื่องเดียวกัน แต่ความรู้สึกจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละคน  ความรู้สึกเป็นสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้ เหมือนกุญแจที่ปลดล็อกให้เราเข้าใจตัวเอง


ความรู้สึกเป็นสิ่งที่จัดการได้

“เป็นลูกผู้ชายห้ามร้องไห้  หรืออย่าเผยความรู้สึกมากเกินไป”
มนุษย์ถูกปลูกฝังให้เป็นคนที่อดทน หากรู้สึกไม่ดีให้อดกลั้นเอาไว้ 

หนังสือเล่มนี้บอกว่าสาเหตุที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า “การอดกลั้นความรู้สึกเป็นเรื่องดี”  เป็นเพราะนักวิจัยในยุคแรกเชื่อมาตลอดว่า ในใจของเรามีเซนเซอร์เมื่อถูกกระตุ้นเซนเซอร์นี้ก็จะตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น  เพราะฉะนั้นคนที่ฝืนตัวเองไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าจะได้รับความชื่นชมแบบผิดๆ ว่าเก่งและมีความอดทนสูง 

เทคนิคจัดการกับความรู้สึก 

หนึ่งในเทคนิคที่น่าสนใจคือ “การฝึกเผชิญหน้ากับความรู้สึกของตัวเอง” โดยมีการเปรียบเปรยความรู้สึกให้ดูเข้าถึงง่ายมากขึ้น ด้วยการเปรียบเป็นเหมือนการขึ้นรถไฟเหาะในสวนสนุก หากอยากลงจากรถไฟเหาะความรู้สึก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “ตระหนักถึงการมีอยู่ของความรู้สึก” 

นักจิตวิทยาแบ่งอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ออกเป็น 6 ชนิด คือ ความสุข ความเศร้า ความโกรธ ความแปลกใจ ความกลัว และความเกลียด วิธีตระหนักรู้ไม่ยาก เพียงแค่บอกให้ได้ว่าเรากำลังนั่งอยู่ยนรถไฟเหาะของความรู้สึกอะไร เช่น ตอนนี้เรากำลังนั่งอยู่บนรถไฟเหาะแห่งความโกรธ 

วิธีลงจากรถไฟเหาะจะไม่ยากเลย ให้รับรู้ความรู้สึกของตัวเอง 
หายใจเข้าลึกๆ แล้วพูด (ขณะที่หายใจเข้า) ว่า “ตอนนี้ฉันกำลังโกรธ” 
(หายใจออก) “ตอนนี้ฉันกำลังโกรธ”  แล้วสัมผัสกับความรู้สึกนั้นให้มากพอ 
ทิ้งระยะห่าง และมองมันอย่างที่เป็น แล้วความรู้สึกส่วนใหญ่จะจางไปภายใน 90 วินาที  

ความรู้สึกก็เหมือนรถไฟเหาะ แค่ทนให้ได้ 90 วินาที เดี๋ยวก็จบแล้ว

หรือจะลองเขียนบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องเขียนยาวหรือเขียนทุกวัน แค่นึกถึงสิ่งที่จดจำได้มากที่สุดจากความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ  

1.แยกแยะว่าความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกอะไร
2.ลองนึกถึงสาเหตุและกระบวนการที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น
3.ขุดคุ้ยดูใจที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกนั้น

นอกจากนี้หนังสือ “ใช้สมองพลังบวก เอาชนะอารมณ์ลบ” ยังมีเทคนิคทางจิตวิทยาอีกมากมายในการจัดการกับความกังวล เพื่อทำให้ชีวิตรอบด้านของเราดีมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าชีวิตคือความไม่แน่นอน เราไม่สามารถห้ามความรู้สึกกังวลได้และในทำนองเดียวกันเราไม่สามารถเพิกเฉยต่อมันได้เช่นกัน  ทางที่ดีที่สุดคือการยอมรับ ทำความรู้จักและรับมืออย่างถูกวิธี เราจะเติบโตขึ้นจากความกังวลและใช้ประโยชน์จาก “อดีต” ศัตรูได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทุกอารมณ์จะเคาะประตูเรียกคุณได้อย่างนุ่มนวลมากขึ้น

บทความโดยสำนักพิมพ์ howto


บทความที่เราอยากแนะนำให้อ่าน

พูดให้ง่าย ๆ คือไม้ตายของคนเก่ง ทักษะการสื่อสาร สำคัญที่คนทำงานไม่ควรมองข้าม

10 หนังสือพัฒนาตนเอง ที่อยากแนะนำให้อ่าน เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในปี 2024

การใช้ กฎแห่งแรงสั่นสะเทือน ดึงดูดพลังงานเพื่อความสุขและเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าที่คุณคิดฝัน


หนังสือ ใช้สมองพลังบวก เอาชนะอารมณ์ลบ

เขียนโดย อูโบย็อง

แปลโดย อาสยา อภิชนางกูร

สำนักพิมพ์ howto

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close