ทุกเสียงตอบรับที่มีให้กับ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ผลงานชิ้นเยี่ยมจาก มิลาน คุนเดอรา ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของยุคสมัยใหม่

หากกล่าวถึงผลงานชิ้นเอกของ มิลาน คุนเดอรา หลายคนนึกถึง ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต เป็นเรื่องแรก ๆ เพราะเป็นนวนิยายที่เหมาะกับนักอ่านที่อยากมองชีวิตในมุมใหม่ ละเลียดชีวิตสุดหม่นผ่านน้ำเสียงขำขัน ฝากข้อคิดแสนละมุนแต่บาดลึกจนไม่อาจลืมเลือน อีกทั้งยังรื้อสร้างทุกขั้วความคิดที่ครอบสมองเราอย่างแสบสัน

Words ขอนำทุกเสียงตอบรับที่มีให้กับ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ผลงานชิ้นเยี่ยมจาก มิลาน คุนเดอรา ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของยุคสมัยใหม่ ผ่านสามคำถามที่จะทำให้นักอ่านรู้จักนวนิยายเรื่องนี้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

1. ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ส่งผลต่อมุมมองชีวิตของตัวเองมากน้อยเพียงใด

ภัควดี วีระภาสพงษ์ ผู้แปล ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต กล่าวว่า “เราเป็นคนชอบตั้งคำถามมาตั้งแต่เด็ก และมักตั้งคำถามหรือมีข้อกังขากับทุกเรื่อง จนทำให้ถูกคนรอบตัวมองเป็นตัวประหลาดหรือเป็นคนคิดมากจริงจังเกินกว่าเหตุ นี่พูดถึงสภาพสังคมเมื่อสักสี่สิบปีที่แล้ว การได้อ่านงานเขียนของคุนเดอราทำให้รู้สึกสบายใจ ในแง่ที่ว่ามีคนชอบตั้งคำถามเหมือนกัน มิหนำซ้ำตั้งคำถามได้แปลกกว่าเราด้วย (เช่น คำถามเกี่ยวกับพระเจ้าใน ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต เรายังนึกไม่ถึงว่ามีคนตั้งคำถามได้ขนาดนี้)

คุนเดอราไม่ได้แค่ตั้งคำถามลอย ๆ แต่เขาพยายามแสวงหาคำตอบในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่การคิดเอง แต่เป็นการหาคำตอบที่ตั้งอยู่บนความรู้ ค้นหาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จากแนวคิดทางปรัชญา จากวรรณกรรมของนักเขียนคนอื่น จากประสบการณ์ของตัวเอง จากประสบการณ์ของตัวละครในเรื่อง ฯลฯ เขาแสดงให้เห็นว่า ทุกคนตั้งคำถามได้ทั้งนั้น ถ้าคุณพยายามแสวงหาคำตอบด้วยความรู้ไม่ว่าสาขาไหนหรือจากหลายสาขาวิชา คุณอาจไม่ได้คำตอบเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นสัจธรรม แต่ในกระบวนการแสวงหาคำตอบนี่แหละที่จะเปลี่ยนให้คุณเป็นนักคิด นักวิชาการ นักปรัชญา นักเขียนนวนิยาย นักสร้างภาพยนตร์ กวี ฯลฯ ต่อให้คุณไม่เป็นอะไรทั้งหมดที่ว่ามา อย่างน้อยก็จะไม่เป็นคนฟุ้งซ่าน

นวนิยายของคุนเดอราไม่ได้เปลี่ยนมุมมองชีวิตของเรา แต่อย่างที่บอกตอนต้นว่า มันทำให้เราสบายใจว่าเราไม่ใช่คนประหลาด โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นคนไม่ไว้ใจในอารมณ์ความรู้สึกมากนัก ยกตัวอย่างเช่น เราดูหนังหรืออ่านนิยายสักเรื่อง แล้วร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร แต่หลังจากนั้นเราก็บอกว่า เราไม่ชอบหนังหรือนิยายเรื่องนั้นเลย เมื่อก่อนเราก็อธิบายไม่ถูกว่าเพราะอะไร แต่พออ่านงานเขียนของคุนเดอรา เราถึงเข้าใจตัวเราว่าเราเป็นคนไม่ไว้ใจอารมณ์ความรู้สึก

คุนเดอราสามารถอธิบายแยกแยะให้เห็นอย่างละเอียดว่า ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองที่มีต่ออารมณ์ความรู้สึกหนึ่ง ๆ ความเข้าใจมันจะเปลี่ยนไปทันที ถ้าคุณเข้าหาอารมณ์ความรู้สึกนั้นอย่างใกล้ชิด คุณก็จะคิดแบบหนึ่ง ถ้าคุณถอยออกมาเพิ่มระยะห่าง คุณก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง ถ้าคุณเปลี่ยนองศาการมอง คุณก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้เขาอธิบายได้ชัดเจนดีมากในประเด็น รสนิยมสาธารณ์ มันไม่ผิดที่คนเราจะมีอารมณ์ความรู้สึก แต่อย่าไว้ใจมากนักว่าอารมณ์ความรู้สึกนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือมีคุณค่าจริงจัง”

ฆนาธร ขาวสนิท นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ และนักการตลาด มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “จริงๆ แล้ว จากมุมมองส่วนตัว คิดว่างานเขียนโดยภาพรวมของมิลาน คุนเดอรา ค่อนข้างเป็นงานเขียนของมนุษย์จับจดคนหนึ่งนะครับ คือตลอดชีวิตของคุนเดอรา จะสังเกตได้ว่าเขามักโฟกัสอยู่กับเรื่องราวหลัก ๆ ไม่กี่เรื่อง เช่น การถูกกดขี่ ความไร้มนุษยธรรม และที่สำคัญคือ ความไร้สาระ ความไร้เดียงสา และความเขลาอันหาแก่นสารไม่ได้ของการดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์

แต่มากไปกว่านั้น ที่ทำให้งานของคุนเดอรามีสเน่ห์และโดดเด่นก็คือ กลวิธีการเขียนแบบเฉพาะตัว การนำอารมณ์ขัน การเสียดสี เรื่องราวทางปรัญชาชวนคิดชนิดลึกซึ้ง หรือเหตุการณ์ยิบย่อยในประวัติศาสตร์มาผสมปนเปจนเป็นเนื้อเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย แถมน้ำเสียงที่ค่อย ๆ ตะล่อมให้ผู้อ่านตั้งคำถามในประเด็นต่าง ๆ แบบเนียน ๆ ก็นับว่าเป็นศิลปะชั้นสูงได้เลย

การย้อนกลับไปอ่านงานที่ว่ากันว่าเป็นมาสเตอร์พีซของคุนเดอรา อย่าง ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ในแต่ละครั้ง เราจะพบว่าระหว่างทางคุนเดอรา กำลังท้าทายให้เราใช้หัวคิดใคร่ครวญอย่างหนักเกี่ยวกับโลกและชีวิต (โดยเราเองก็อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ) การชวนให้เราตั้งคำถามของชุดตัวเลือกมากมายที่เราได้เลือก ข้อสันนิษฐานที่เราทึกทักขึ้นมา รวมถึงเรื่องคุณค่าต่าง ๆ นานาในชีวิตซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบหลักในการก่อร่างสร้างตัวตนของมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างไม่ต้องบังคับขู่เข็ญ จึงนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางวรรณกรรมของศตวรรษที่ 20 ได้เลย 

หลายคนอาจคิดว่างานคุนเดอราอ่านยาก หมายถึง อะไรในยุคนี้ก็ดูจะยากไปเสียหมด ถ้าสุดท้ายแล้วมันไม่นำพาไปสู่การเฉลย หรือคลี่คลายปมแบบแจ่มแจ้งตายตัว (เร็ว ๆ) หรืออาจไม่มีประโยคสั้น ๆ เท่ ๆ สักสองสามประโยคให้เอามาโพสต์ขึ้นสเตตัสหรือไอจีสตอรี แต่เราว่าประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น งานเขียนบางงานแค่มีพลังพอให้ตระหนักและตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากลบางอย่างในชีวิต อย่างความลักลั่นย้อนแย้ง หรือความไม่ลงร่องลงรอยบางประการ ที่สุดท้ายเราก็ต่างหยิบจับมันมานิยามชีวิตเราเองอยู่ดี แค่นี้ก็สนุกแล้วนะครับ

เอาแค่คำถามง่าย ๆ ว่า ถ้าชีวิตของคนคนหนึ่งเป็นผลผลิตของชุด การเลือก หลายครั้งหลายครา แต่สุดท้ายถ้าเรารู้ว่าเราไม่ได้มีเจตจำนงเสรีอย่างแท้จริง และชีวิตที่ดำเนินอยู่ก็แค่ อุบัติซ้ำชั่วนิรันดร์ ไปในหนทางเดิม แล้วชีวิตจะยังมีความหมายอยู่หรือเปล่า แค่คำถามอะไรทำนองนี้ก็คุ้มค่าแก่การอ่านแล้ว ยังไม่นับเรื่องความสุนทรีย์ของการได้อ่านนิยายเรื่องหนึ่งที่ผูกปม สร้างตัวละคร และดำเนินเรื่องได้น่าติดตาม”

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “เสน่ห์ของงานคุนเดอร่า คือลูกเล่นของการใช้ภาษา ตัวละครที่มีเสน่ห์และชวนให้ติดตามและการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง งานของเขาเลี่ยงที่จะสั่งสอนหรือสื่อสารอะไรแบบตรงไปตรงมา แต่ชวนให้เห็นความยอกย้อนและย้อนแย้งของชีวิตมนุษย์”

รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “ต้องบอกว่าหนังสือความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต เป็นอันดับต้น ๆ ของหนังสือที่เลิกพิมพ์ที่นักอ่านตามล่าหากันในกลุ่มหนังสือมือสอง ส่วนตัวไม่เคยอ่านงานของคุนเดอรามาก่อน แต่มีเพื่อนแนะนำให้ลองหาเล่มนี้มาอ่าน

หลังจากได้อ่านเล่มนี้ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมหลายคนถึงตามหา และทำไมคนมากมายยกย่องคุนเดอรา ผู้เขียนมีความเป็นนักปรัชญาสูงมาก แต่เล่าเรื่องออกมาเป็นตัวหนังสือได้เนียนกริบ ตัวละครหลักมีมิติมีความเป็นมนุษย์สูง ไม่ได้แบนราบเป็นขาวกับดำ อีกทั้งคุนเดอราเองเป็นคนใช้ภาษาได้ดีมาก ๆ มีลูกเล่นในการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อาจารย์ปิยบุตรเคยยกย่องว่าถ้าชีวิตนี้เขียนงานออกมาได้เหมือนคุนเดอราก็คงจากโลกนี้ไปได้อย่างสงบ ก็คงไม่เกินจริง”

นิวัต พุทธประสาท บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “คุนเดอราเป็นนักเขียนที่เขียนงานเสียดสีสังคม การเมือง ตัวตนมนุษย์ได้ถึงแก่น เขาตั้งคำถามถึงทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน จุดเด่นนี้ทำให้นักอ่านเข้าใจมุมมองของตัวละครในแง่มุมที่ลึกกว่า นี่คือจุดเด่นที่น่าค้นหาในนิยายเรื่องนี้”

ขจรฤทธิ์ รักษา บรรณาธิการสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ กล่าวปิดท้ายว่า “นิยายเรื่องนี้สร้างความสั่นสะเทือนอยู่ในใจตั้งแต่ได้หยิบมาอ่านครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2541 ตอนนั้นแทบจะเรียกว่าไม่รู้จักนักเขียนคนนี้มาก่อน พออ่านแค่บทแรกก็ทึ่ง บอกกับตัวเองว่านักเขียนเป็นคนที่ฉลาดที่สุด เล่าเรื่องของคนอื่น และแทรกความคิดเห็นลงในเรื่องอย่างแนบเนียน

ในบทที่สามเขาขึ้นต้นด้วยการเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของบุรุษที่หนึ่ง ก่อนจะค่อย ๆ เล่าถึงชีวิตของโทมัสด้วยมุมมองของบุรุษที่สาม “ผมครุ่นคิดถึงโทมัสหลายปีแล้ว จนเมื่อไตร่ตรองถึงเรื่องข้างต้นแหละที่ทำให้ผมเห็นเขาแจ่มชัดขึ้น ผมเห็นเขายืนอยู่ตรงหน้าต่างห้องพัก และมองข้ามสนามหญ้าดูกำแพงตึกฝั่งตรงข้าม ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เขาได้พบกับเทเรซาครั้งแรกเมื่อประมาณสามสัปดาห์ก่อนในเมืองเช็กเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ทั้งคู่อยู่ด้วยกันแทบไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง เธอตามมาส่งเขาที่สถานี และรอเขาขึ้นรถไฟ สิบวันต่อมาเธอแวะมาหาเขา ทั้งสองร่วมรักกันในวันที่เธอมาถึง คืนนั้นเธอจับไข้และพักอยู่ที่ห้องพักของเขาตลอดทั้งสัปดาห์ด้วยไข้หวัดใหญ่ เขาเกิดความรักใคร่อย่างบอกไม่ถูกต่อหญิงสาวแปลกหน้าคนนี้ เธอเปรียบเสมือนทารก ทารกที่ใครสักคนใส่ลงในตะกร้าหญ้ากกชันยาและลอยน้ำมาให้โทมัสเก็บขึ้นฝั่งธารข้างเตียงของเขา เธอพักอยู่กับเขาหนึ่งสัปดาห์จนหายดี แล้วจึงกลับเมืองของเธอซึ่งอยู่ห่างกันราวร้อยยี่สิบห้าไมล์จากกรุงปราก เวลาก็ล่วงเลยมาถึงตอนที่ผมเพิ่งเอ่ยถึงและเห็นว่าเป็นกุญแจสำคัญในชีวิตของเขา คือยืนอยู่ข้างหน้าต่าง มองข้ามสนามหญ้าดูกำแพงตึกฝั่งตรงข้ามและชั่งใจ”

“เขาควรเรียกเธอกลับกรุงปรากดีไหม เขาเกรงความรับผิดชอบ หากเขาชวนเธอมา เธอคงมามอบกายถวายชีวิตให้ หรือเขาน่าจะตัดขาดจากเธอเสียเลยดีกว่า ปล่อยให้เธอเป็นบริกรสาวในภัตตาคารโรงแรมของเมืองบ้านนอก และไม่ต้องเจอหน้ากันอีก”

จากนั้นผู้เขียนก็เปลี่ยนมาเล่าทั้งเรื่องของ โทมัส กับ เทเรซา อย่างลงลึก และเล่าถึงแม่ที่ชอบเดินแก้ผ้าในบ้าน เล่าเรื่องของพ่อเลี้ยงที่พยายามจะปลุกปล้ำเธอ เล่าถึง ซาบินา ชู้รักของโทมัสที่คบหากันยาวนานภายใต้กฎหมายเลขสาม เล่าถึงเพื่อนร่วมงาน เล่าถึงอาชีพหมอที่ต้องเจอกับเหตุการณ์หลายอย่างทั้งเรื่องผู้หญิงที่เขาแอบมีความสัมพันธ์ด้วยในช่วงสั้น รวมทั้งการแก้ปัญหาจากเทเรซาที่กลายเป็นคนขี้หึงอย่างวายร้าย และชวนให้อึดอัด โดยใช้ฉากหลังของสงครามช่วงที่รัสเซียกำลังบุกยึดกรุงปรากที่เขาอาศัยอยู่ และในที่สุดเหตุการณ์ทางการเมืองก็เข้าไปคุกคามต่อชีวิตส่วนตัวของเขา เปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานของเขา เหมือนที่เราพูดกันว่า ถ้าการเมืองดี ชีวิตของพลเมืองก็จะดี การเมืองเลว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะพลอยเลวร้ายตามไปด้วย

ชีวิตของโทมัสกับเทเรซาก็เช่นเดียวกัน เมื่อโทมัสถูกย้ายไปอยู่ชนบท เขาก็ต้องใช้แรงงานควบคู่ไปกับการรักษาคนป่วย แต่กระนั้นก็ตามสันดานแห่งความเจ้าชู้ของเขาไม่แคยเปลี่ยนไป เทเรซาก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม ความหึงหวงอันร้ายกาจของเธอก็จะยิ่งเลวร้ายตามไปด้วย หึงจนหาความสุขให้กับตัวเองแทบไม่ได้ ในที่สุดก็กลายเป็นโศกนาฏกรรมของชีวิตคู่

“เพื่อเป็นหลักประกันว่า มิตรภาพในเชิงกามารมณ์จะไม่มีทางงอกเงยจนคุกคามเป็นความรัก เขาจะยอมเจอคู่สิเนหาระยะยาวแต่ละรายโดยเว้นช่วงนาน ๆ เท่านั้น เขาเห็นว่าวิธีนี้ไร้ที่ติและเผยแพร่ในหมู่เพื่อนฝูง สิ่งสำคัญคือรักษากฎเลขสาม คือ คุณเจอผู้หญิงคนหนึ่งติดต่อกันสามครั้งรวด แล้วก็ตัดขาดกันไปเลย หรือไม่คุณก็รักษาความสัมพันธ์ให้ยืดไปหลายปี แต่จำไว้เสมอว่านัดพิศวาสแต่ละครั้งต้องทิ้งช่วงอย่างน้อยสามสัปดาห์”

โทมัสมีความเชื่อว่า “การค้างคืนด้วยกันเป็นวัตถุพยานของความรัก” “หลังจากร่วมรักแล้วเขาอยากกลับบ้านอยากอยู่ตามลำพังอย่างอดกลั้นไม่ได้ การตื่นขึ้นกลางดึกสงัดข้างกายคนแปลกหน้าเป็นสิ่งน่าชัง การตื่นในยามเช้ากับคนอื่นเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เขาไม่ปรารถนาให้ใครมาแอบฟังเสียงแปรงฟันในห้องน้ำ ทั้งไม่อภิรมย์กับความคิดว่าต้องกินอาหารเช้าร่วมกับใคร””

2. คิดว่าทำไมคุนเดอราถึงเลือกฉากหลังเป็นบริบทสังคมและการเมืองของสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวักปี 1968 เพื่อเล่าซ้อนภายใต้เรื่องราวความรักและตัวตนของตัวละครชายหญิง

ภัควดี วีระภาสพงษ์ กล่าวว่า “ฉากหลังของนวนิยายเรื่อง ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต อยู่ในช่วงที่เรียกว่า Prague Spring และช่วงเวลาหลังจากนั้น ช่วงเวลาของ ฤดูใบไม้ผลิของกรุงปราก เริ่มต้นที่เดือนมกราคม 1968 และไปจบที่เดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน เมื่อกองทัพของสหภาพโซเวียตบุกเข้ามาปราบปรามประชาชนในเชโกสโลวาเกีย

เชโกสโลวาเกียเป็นสังคมนิยมจากการรัฐประหารตั้งแต่ปี 1948 และกลายเป็นรัฐหนึ่งภายใน ม่านเหล็ก หรือค่ายประเทศสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นหัวเรือใหญ่ ในปี 1968 จากความพยายามปฏิรูปประเทศให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการกระจายอำนาจมากขึ้น มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ทำให้ประชาชนชาวเชโกสโลวาเกียจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวและประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนมากขึ้น ทำให้สหภาพโซเวียตคิดว่าจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้ จึงเคลื่อนทัพเข้ายึดครองและปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ

ประชาชนจำนวนมากถูกจับ ถูกเรียกเข้าค่ายปรับทัศนคติ คนจำนวนมากต้องตกงานเพราะทัศนคติทางการเมือง มีตำรวจลับและสายตำรวจยุ่บยั่บเต็มไปหมดทุกซอกมุมประเทศ เพื่อคอยสอดส่องว่าใครคิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร ผู้คนอยู่ด้วยความหวาดกลัว ระแวงกันและกัน

แม้เหตุการณ์ตามท้องเรื่องจะเกิดขึ้นเมื่อ 56 ปีก่อน หรือครึ่งศตวรรษที่แล้ว แต่คนไทยฟังแล้วก็อาจจะรู้สึกคุ้น ๆ

แต่อย่าเข้าใจผิดว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายการเมือง จุดโฟกัสหลักของนวนิยายอยู่ที่การใคร่ครวญเกี่ยวกับภาวะของการมีชีวิตอยู่ ภาวะของตัวตน และภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แน่นอน การเมืองที่เป็นฉากหลังย่อมส่งผลกระทบประดุจคลื่นที่ซัดชีวิตของคนแต่ละคนไปในทิศทางต่างๆ  บางคนก็ปล่อยให้คลื่นนั้นซัดพาไป และบางคนก็แข็งขืน แต่คุนเดอราไม่ได้ตัดสินว่า การสยบยอมหรือการแข็งขืนต่อชะตากรรม อย่างไหนดีกว่ากัน เขาเพียงแค่สำรวจตรวจสอบภาวะต่าง ๆ ของความเป็นมนุษย์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความผันผวนของสังคม เขาชี้ให้เห็นกระทั่งแง่ที่สวยงามและน่าเกลียดของทั้งการสยบยอมและการแข็งขืน ราวกับดึงคนอ่านให้ถอยมาก้าวหนึ่งและพินิจดูตัวละครด้วยสายตาที่ไตร่ตรองมากขึ้น เขาทำให้ผู้อ่านเห็นอกเห็นใจและหัวเราะเยาะตัวละครได้พร้อม ๆ กัน”

ฆนาธร ขาวสนิท มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “ถ้าดูตามบริบทในช่วงชีวิตของคุนเดอรา การเลือกฉากหลังเป็นเชโกสโลวาเกียในห้วงปี 1968 ซึ่งในชีวิตจริงคือเป็นห้วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของนักเขียนหนุ่มคนหนึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย คุนเดอราเป็นประจักษ์พยาน แถมยังมีส่วนร่วมในห้วงเวลาสำคัญของมาตุภูมิที่มีชื่อเรียกว่า ปรากสปริง” (Prague Spring) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 1968 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดเสรีภาพทางการเมืองในเชโกสโลวาเกีย

ภายใต้ยุคสมัยการปกครองของสหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือห้วงยามที่คนหนุ่มสาวกำลังให้ความสนใจในเรื่องสังคมและการเมืองอย่างเข้มข้น และนอกจากเรื่องนี้แล้ว สำหรับนักเขียนหนุ่มคนหนึ่ง จะมีอะไรให้สนใจได้อีกนอกจากเรื่อง “ความรักความสัมพันธ์” ดังนั้นเดาว่าการเกิดขึ้นของความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ กล่าวคือ นักเขียนหนุ่มคนหนึ่งต้องการจะสะท้อนตัวตนและความหมกมุ่นของตัวเองไปพร้อมกับประสบการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ รวมถึงผลกระทบที่ตามมาจากความเคลื่อนไหวที่ถ้าเรียกชื่อเล่นแบบไทย ๆ คงได้ว่า ฤดูใบไม้ผลิแห่งปราก

แต่โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ทำให้นิยายเรื่องนี้ยิ่งใหญ่คือ หลายเรื่องหลายราวทั้งในภาพใหญ่อย่างความเคลื่อนไหวทางการเมือง การถูกผู้มีอำนาจที่เหนือกว่าปราบปราม หรือในภาพที่เล็กลงมาอย่างความทะเยอทะยานเชิงปัจเจก ความใฝ่ฝัน การทรยศหักหลัง ความต้องการทางเพศ การเล่นชู้ ไล่ไปจนถึงคุณค่าในงานศิลปะ

“เหล่านี้ล้วนกลายเป็นอุปมาอุปไมยชั้นดีของภาวะความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ต้องยืนอยู่บนทางแยกว่าเราจะเลือกเลี้ยวซ้ายหรือขวาดี”

แล้วระหว่างอุดมการณ์กับชื่อเสียงและความนับหน้าถือตาในสังคมที่อุตส่าห์สร้างมาล่ะ แล้วความรักแบบเล่นชู้แสนฉูดฉาดกับชีวิตแต่งงานอันจืดชืดที่เป็นเซฟโซนล่ะ เหล่านี้อย่างที่บอกไปว่ามันเป็นคำถามชวนปวดหัว แถมยังท้าทายศีลธรรมทั้งสิ้น แต่ ณ จุดหนึ่งในชีวิตเราก็อาจจะต้องพบเจอ และต้องตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างในคำถามทำนองเดียวกันนี้ก็ได้”

ประจักษ์ ก้องกีรติ มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “ปี 1968 เป็นปีสำคัญของประวัติศาสตร์เชโกสโลวาเกียสมัยใหม่ เพราะเกิดเหตุการณ์ Prague spring ซึ่งเกิดกระแสการปฏิรูปการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ณ ขณะนั้นให้มีความเป็นประชาธิปไตยและเปิดเสรีมากขึ้น บรรยากาศของเสรีภาพและการเคลื่อนไหวของประชาชนและคนหนุ่มสาวจึงเบิกบานและเติบโต หลังถูกปิดกั้นมายาวนาน แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรมเมื่อโซเวียตไม่พอใจกระแสปฏิรูปนี้ และส่งกองทัพมาบดขยี้ขบวนการปฏิรูปและยึดครองเชโกสโลวาเกีย แม้จะพ่ายแพ้ แต่คนเชโกสโลวาเกียก็ต่อสู้อย่างกล้าหาญและยืนหยัด เหตุการณ์ช่วงนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินนักเขียนจำนวนมาก รวมถึงคุนเดอรา”

รักชนก ศรีนอก มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “แน่นอนว่าต้องเป็นสภาพการบริบทของสังคมและการเมืองในยุคนั้นด้วย ในหนังสือก็มีการกล่าวเปรียบเปยว่าประวัติศาสตร์ของชาวเชโกสโลวาเกียและของยุโรปคือภาพร่างคู่หนึ่งจากปลายปากกาไร้ประสบการณ์ ตามยถากรรมของมนุษยชาติ ประวัติศาสตร์เบาหวิวเฉกเช่นชีวิตของมนุษย์ปัจเจก เบาหวิวเหลือทน ผู้อ่านต้องค้นหาว่าความเบาหวิวดุจขนนกที่คุนเดอราเปรียบเปรยนี้คือสิ่งใด”

นิวัต พุทธประสาท มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต เป็นเหมือนบทกวีของสายลมแห่งการปฏิวัติ มิลาน คุนเดอรา สร้างตัวละครที่เข้มแข็ง โง่เขลา และอ่อนแอ ทางเลือกของพวกเขาเต็มไปด้วยเหตุผลของตัวเอง และบางครั้งอยู่บนพื้นฐานของผู้อื่น แม้ว่ามันจะหนักหรือเบาหวิว แต่เราได้เห็นความงดงามนั้นสะท้อนมาสู่ตัวเรา (นักอ่าน) เรื่องรักเป็นแค่มิติเดียวของนิยายเรื่องนี้ เพราะแท้แล้วความรักเป็นแค่เพียงเรื่องที่ผ่านเข้ามาและจากไป สิ่งที่เหลือในเรื่องคือคำถามว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เพื่อความไร้สาระของชีวิต หรือการปฏิวัติที่อ่อนแอ”

ขจรฤทธิ์ รักษา กล่าวปิดท้ายคำถามนี้ว่า “ภาคหกที่ชื่อว่า การเดินขบวนอันเกรียงไกร มีฉากกรุงเทพอยู่ในเนื้อหาของนิยายเรื่องนี้ด้วย โทมัสเดินทางมากับนายแพทย์ นักข่าว นักวิชาการ ปัญญาชนจำนวน 470 คน มาเพื่อรายงานข่าวและเพื่อประท้วงสงครามที่อเมริกาขนระเบิดมาทิ้งในประเทศกัมพูชา เป็นฉากที่ผู้เขียนแสดงทัศนะทางการเมืองว่าเขาทั้งไม่ชอบลัทธิคอมมิวนิสต์ และไม่ชอบที่อเมริกันทิ้งระเบิดปูพรมอย่างโหดเหี้ยม

นายแพทย์คนหนึ่งตะโกนว่า “เรามาที่นี่เพื่อรักษาผู้คนที่กำลังรอความตาย ไม่ใช่มาสรรเสริญประธานาธิบดีคาร์เตอร์ อย่ามาเปลี่ยนการประชุมครั้งนี้ให้กลายเป็นละครสัตว์โฆษณาชวนเชื่อของพวกอเมริกัน เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อคัดค้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เรามาที่นี่เพื่อช่วยชีวิตคน”

ถ้าวิเคราะห์จากงานเขียนเล่มนี้ก็จับได้ถึงน้ำเสียงของผู้เขียนได้อย่างหนึ่งว่า เขาไม่สบอารมณ์ที่คอมมิวนิสต์อย่างรัสเซียที่บุกเข้าไปยึดประเทศของเขา รวมถึงไม่ชอบที่อเมริกันใช้ความได้เปรียบทางอาวุธยุทโธปกรณ์จัดการอย่างโหดร้ายกับประเทศโลกที่สามซึ่งอยู่ติดกับประเทศไทย

ผมคิดว่านักเขียนนั้นมีความเฉลียวฉลาดในการสร้างตัวละครอย่างโทมัสและเทเรซาขึ้นให้อยู่ภายใต้ฉากของสงคราม ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือในประเทศของเขาเอง เพราะถ้าเล่าแต่เรื่องความเลวร้ายของคอมมิวนิสต์รัสเซียอย่างตรงไปตรงมา นิยายก็กลายเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ไม่ชวนอ่าน”

“ในฐานะนักเขียนนิยาย มิลาน คุนเดอรานั้น ถือได้ว่าเป็นหนึ่งของนักเขียนที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลก เรื่องเล่าของเขาไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือนิยาย ล้วนถูกกล่าวขานถึงด้วยความชื่นชมเสมอ”

3. ทำไมควรอ่าน ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ในปี 2024

ภัควดี วีระภาสพงษ์ กล่าวว่า “มิลาน คุนเดอรา เป็นนักเขียนร่วมสมัยที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2023 นวนิยายของเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของยุคสมัยใหม่ และมีอิทธิพลต่อนักเขียนยุคปัจจุบันอย่างมาก ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งในงานเขียนของคุนเดอรา ซึ่งรวมถึงความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต อันเป็นนวนิยายที่โด่งดังที่สุดของเขาก็คือการเป็นนวนิยายเชิงปรัชญา ฟังดูเหมือนจะอ่านยาก แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ คุนเดอรามักเริ่มต้นนวนิยายด้วยแนวคิดบางอย่างของนักปรัชญา จากนั้นเขาจะใช้เรื่องราวธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์มาอธิบายตรวจสอบ เทียบเคียง หรือวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดทางปรัชญานั้น

เขาสร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของแง่มุมบางอย่างของมนุษย์ที่เราพบเห็นทั่วไป จากนั้นวิเคราะห์แจกแจงผลกระทบที่แง่มุมนั้นมีต่อตัวละครตัวนั้นและคนอื่น ๆ ที่อยู่รายรอบ เมื่อรวมแต่ละองค์ประกอบในนวนิยายของเขาเข้าด้วยกัน มันเหมือนการท่องเที่ยวแบบหนึ่ง ไม่ใช่การท่องเที่ยวในภูมิประเทศหรือสถานที่บนโลก แต่เป็นการท่องเที่ยว สำรวจ ชื่นชม ขำขัน เกลียดชัง รักใคร่ ฯลฯ ต่อภูมิประเทศภายในตัวตนของมนุษย์ที่มีหลากหลาย เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่มีการตัดสิน ไม่มีการพิพากษา แค่ชี้ให้ดูเฉย ๆ

 ในแง่นี้นวนิยายของคุนเดอราจึงมีความสากลทั้งในแง่กาละและเทศะ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน นวนิยายของเขาก็เป็นการสำรวจตัวตนของมนุษย์ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก และไม่ว่าคนอ่านจะอยู่ในประเทศไหนหรือใช้ภาษาอะไร นวนิยายของเขาก็พูดคุยถกเถียงกับคนอ่านได้เสมอ เพราะแง่มุมที่เขาพาเราไปสำรวจ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ในทุกยุคสมัยและสถานที่ แม้ว่าบางทีเราไม่รู้ตัวว่ามันมีอยู่ในตัวเราก็ตาม นั่นเป็นการตอบแบบยาว ส่วนการตอบแบบสั้นก็คือ เพราะหนังสือความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ฉบับพิมพ์เก่าก่อนนั้น ขายกันในตลาดมือสองด้วยราคาแพงเหลือเกิน !”

ฆนาธร ขาวสนิท มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “เพราะเรื่องราวของ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต มันค่อนข้างเป็นสากล และอยู่เหนือกาลเวลา มันตั้งคำถามพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนอย่างน้อยก็ต้องเคยสงสัยสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ชีวิตคืออะไร รักควรเป็นแบบไหน เรามีชีวิตไปตามโชคชะตากำหนด หรือมีเจตจำนงเสรีเลือกเส้นทางของตัวเองได้กันแน่

แถมยังแสดงตัวอย่างให้เห็นผ่านตัวละครหลากหลายผู้มีมิติซับซ้อนอีก ส่วนคำตอบที่ได้ก็เป็นอัตนัยที่แต่ละคนย่อมตกผลึกแตกต่างกันไปเมื่อเรื่องราวเหล่านี้มาประทะสังสรรค์กับประสบการณ์เฉพาะตัวของตัวเอง หรือสุดท้าย แม้จะยังงง ๆ มึน ๆ ควานหาคำตอบอะไรไม่พบ แต่การได้ลองตั้งคำถาม และสนุกไปกับเรื่องราววายป่วงของตัวละคร”

“บางทีมันก็เพียงพอแล้วในชีวิตอันเบาหวิวเหลือทนของพวกเราทุกคน”

ประจักษ์ ก้องกีรติ มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “งานเรื่อง ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต คืองานที่มีชื่อเสียงที่สุดของคุนเดอรา สำนวนแปลฉบับนี้ก็ดีเยี่ยม เป็นโอกาสอันดีที่นักอ่านรุ่นหลังจะได้สัมผัสกับงานที่พูดถึงความเปราะบางของชะตะกรรมมนุษย์ โดยมีการเมืองยุคของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพและความเป็นมนุษย์เป็นฉากหลัง”

รักชนก ศรีนอก มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “แน่นอนว่ามีหลายคนรอการกลับมาพิมพ์ของหนังสือเล่มนี้ และก็คงไม่ยากที่หนังสือของคุนเดอราเมื่อแปลออกมาแล้วจะพุ่งสู่การเป็นหนังสือแนะนำ และหนังสือขายดี แต่ขอการันตีกับทุกคนว่าเป็นวรรณกรรมที่คุ้มค่า ที่จะใช้เวลาละเมียดละไมกับภาษาและขบคิดถึงปรัชญาที่ซ้อนอยู่ระหว่างบรรทัด”

นิวัต พุทธประสาท มีความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า “นี่เป็นนิยายที่น่าตื่นเต้นที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับการอ่าน ใครที่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก จะรู้สึกได้ทันทีว่านี่คือนิยายที่ไม่เคยมีใครเขียนอะไรแบบนี้มาก่อน มันเป็นการผจญภัยสำหรับการอ่าน มันเหมือนเราอ่านบทกวีที่เขียนถึงมนุษย์ ไม่ว่าจะกลับไปอ่านอีกกี่เที่ยว เราจะได้อะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับข้อเสนอของคุนเดอรา ทั้งที่ขัดแย้งกับผู้เขียน และเห็นด้วยทุกประการ นั่นคือความรู้สึกตลอดเวลาที่อ่าน และนี่คือการผจญภัยที่สนุกมากสำหรับนิยายเรื่องนี้”

ขจรฤทธิ์ รักษา กล่าวปิดท้ายคำถามนี้ว่า “แม้ว่า ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต จะเป็นหนังสือหายากที่หายไปจากท้องตลาดมายาวนาน แต่เมื่อได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ทิ้งช่วงมานานถึง 21 ปี ผมคิดว่ายังเป็นหนังสือร่วมสมัยที่นักอ่านรุ่นใหม่ไม่ควรพลาด กล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมเล่มหนึ่งของโลก อ่านสนุก และยังเชื่อมั่นว่าคุ้มค่า คุ้มเวลาอย่างแท้จริง”

เราจะใช้ชีวิตอย่างเบาหวิวหรือหนักอึ้ง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเลือกของเรานั้นถูกต้องแล้ว ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต นวนิยายเกี่ยวกับชีวิตซึ่งทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20พร้อมมอบประสบการณ์เหล่านั้นให้กับนักอ่านทุกคน !

บทความโดย Words

พบกับ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต

เขียนโดย มิลาน คุนเดอรา

สำนักพิมพ์ Words

สั่งซื้อได้ที่ amarinbooks.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close