ย้อนเส้นทางการเดินทางไกลในวงวรรณกรรม ตลอด 20 ปี ผ่านเลนส์ผู้อยู่เบื้องหลัง ความสุขของกะทิ

กว่า 20 ปี ที่ ความสุขของกะทิ มอบความสุขผ่านเรื่องราวอันลึกซึ้งกินใจนักอ่านทั้งไทยและเทศมามากมาย สร้างปรากฏการณ์อันน่าประทับใจให้แก่วงการวรรณกรรมไทยไม่รู้ลืม

“ความสุขของกะทิ” เรื่องราวของเด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่ต้องเผชิญความสูญเสียครั้งใหญ่และเรื่องราวเจ็บปวดในชีวิต แต่ก็ผ่านพ้น ก้าวข้าม และเติบโตได้อย่างมีความสุขและงดงาม ด้วยความรัก ความอบอุ่นจากคุณตา คุณยาย และผู้คนรอบข้าง

หนังสือขายดีและตีพิมพ์มาแล้ว 117 ครั้ง ซึ่งเป็นชุดหนังสือที่ถูกพิมพ์ซ้ำมากที่สุดในอมรินทร์ ด้วยการร้อยเรียงและถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ ทิ้งปมเอาไว้ให้อยากติดตามอ่านต่อเรื่อยๆ ตั้งแต่ประโยคเริ่มแรกของเรื่อง “แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา” ที่สั่นสะเทือนอารมณ์จนหลายคนน้ำตาคลอ

เนื่องในโอกาสอันดีที่ความสุขของกะทิเดินทางมาสู่ปีที่ 20 ทางสำนักพิมพ์จึงได้จัดงาน “The Journey of Kati’s Happiness 20 ปี การเดินทางของความสุขไม่รู้จบ” เพื่อพานักเขียน นักอ่าน และผู้เกี่ยวข้องในวงวรรณกรรม มาร่วมเดินทางย้อนความประทับใจเข้าไปในความทรงจำของความสุข ความคิดถึง การเติบโต และการเดินทางไม่รู้จบ เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานริมน้ำ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

ภายในงานมีกิจกรรมมากมายที่ชวนทุกคนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความสุขและความทรงจำในวัยเยาว์ รวมถึงทำความเข้าใจ “กะทิ” ในหลากมุมมอง

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกิจกรรม Book Talk “ก้าวเล็กๆ ของเด็กหญิงกะทิ สู่โลกกว้างแห่งวรรณกรรม” ที่ทางสำนักพิมพ์ได้ชวนบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงวรรณกรรม ได้แก่ คุณเจน-งามพรรณ เวชชาชีวะ ผู้เขียน, คุณเอ๋-อริยา ไพฑูรย์ บรรณาธิการคนแรกของหนังสือ “ความสุขของกะทิ”, คุณธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ มาร่วมพูดคุยถึงเบื้องหลังของ ความสุขของกะทิ ที่โลดแล่นในวงการวรรณกรรม ตลอด 20 ปี และนำแง่มุมอันน่าประทับใจจากทั้งสามท่านมาฝากแฟนๆ นักอ่านทุกคน

ความประทับใจแรกที่ได้อ่าน “ความสุขของกะทิ”

คุณเอ๋: ประโยคแรกของเล่มมันน่าติดตาม อ่านแล้วมันก็จบในตอน มันก็มีบางอย่างที่ทิ้งท้ายไว้ให้เราอยากรู้ เราก็อ่านต่อ อ่านต่อ แปบเดียวจบเล่ม ยังคิดว่าเอ๊ะทำไมมันสั้น เขาบอกหนังสือที่ดีเนี่ยเวลาเราอ่านเราจะรู้สึกว่ามันสั้นจัง

พอเราอ่านคำโปรยและยกคำโปรยอ่านต่อเนื่องจนจบภาคแรก เราจะพบว่ากะทิคิดถึงแม่ทุกวัน เพียงแต่ว่าในบทบรรยายพูดถึงน้อยมาก ซึ่งพี่ว่าอันนี้ผู้เขียนตั้งใจ แล้วก็มันทำให้พอเราย้อนกลับไปอ่าน ความรู้สึกของเราอะ จะอิ่มเอมไปอีกแบบหนึ่ง

คุณเอ๋-อริยา ไพฑูรย์

คุณเจน: ที่คุณเอ๋เล่าต่อว่าเป็นความรู้สึกของคนอ่าน ที่เหมือนกับว่าได้เห็นความในใจของกะทิ อันนั้นก็คือความตั้งใจว่าจะค่อยๆ เผย

เราก็อยากเป็นนักเขียนที่คนอ่านหยิบไปแล้วอ่านจบ แต่ว่าเราท้าท้ายตัวเองว่า ไม่ใช่แค่เขียนได้ เขียนให้จบ แต่คิดว่าฉันไม่ยอม การอ่านหนังสือของฉันจะต้องอ่านจนจบ

โศกแต่เกษม

คุณธเนศ: คือเล่มเนี้ย มันมีความโศกแต่เกษมจริงๆ โปรยหัวแต่ละบทเนี่ย ในตัวเรื่องไม่ได้พูดถึงแม่เลย พอโปรยปุ๊ปก็ไปเรื่องอื่น เรื่องของกะทิ การใช้ชีวิตประจำวันของกะทิ แต่โปรยแต่ละบทเอามาเรียงกันเนี่ย นั่นคือเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ที่จะเอาไปขยายต่อในจินตนาการของผู้อ่าน

เพราะฉะนั้น มันเป็นสองเส้นเรื่องที่เดินๆ ไปด้วยกัน มันคือโศกแต่เกษมจริงๆ ระหว่างความโศกที่มันอยู่ในประโยคที่โปรยหัว น้อยแต่มาก ง่ายแต่งาม มันทำให้เราอินเรื่อยๆ ว่าเฮ้ย เด็กผู้หญิงคนนี้ โชคดีจังเลย ที่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย มีคนช่วยโอบอุ้มค้ำชู ทำให้เธออยู่รอดปลอยภัยในสังคมนี้

เล่มนี้ มันเหมือนเป็นตัวแทนความใสอะไรบางอย่าง หยดน้ำใสๆ ที่อยู่ท่ามกลางโลกอันร้อนแรง มันยังไม่ล้าสมัย มันทำให้เรารู้สึกว่าเราอินกับตัวละครได้ ตรงที่วันหนึ่งเราก็ต้องเผชิญกับความสูญเสีย

คุณธเนศ เวศร์ภาดา

เรื่องราวของเด็ก ที่เติบโตเกินกว่าวรรณกรรมเยาวชน

คุณเอ๋: สาเหตุที่เปลี่ยนสำนักพิมพ์ก็เพราะว่า ตอนที่เล่มแรกออกมามีจดหมายเข้ามาเยอะมาก ส่วนหนึ่งก็ถามเรื่องพ่อกับแม่ของกะทิ ว่าทำไมเขาถึงเลิกกัน ตกลงกะทิเป็นพม่าใช่ไหม น้ากันต์ก็แอบรักแม่กะทิรึเปล่า เป็นคำถามผู้ใหญ่ขึ้นมา เราก็เลยบอกพี่เจน ปรากฏว่าพี่เจนเขาวางโครงพวกนี้ไว้หมดแล้ว ว่าพ่อกับแม่เจอกันยังไง ความรู้สึกอะไรยังไง

ก็เลยบอกพี่เจนว่างั้นเขียนสิ ทีนี้ถ้าจะออกในนามแพรวเยาวชนอีกเนี่ย ก็อาจจะเกิดข้อจำกัดว่าประเด็นนี้เด็กจะเข้าใจไหม บางประเด็นอาจจะต้องตัดออก เพราะเรากลัวว่าเด็กจะอ่านแล้วไม่เข้าใจ ฉะนั้นจึงเปลี่ยนมาพิมพ์กับแพรวสำนักพิมพ์ เพื่อให้มีอิสระที่จะเขียน หลังจากนั้นก็เลยเริ่มทำงานเล่มสอง โดยที่เล่มแรกก็พิมพ์ซ้ำขึ้นมาใหม่เพื่อให้คู่กัน ก็ออกมาในนามแพรวสำนักพิมพ์

รางวัลซีไรต์

คุณธเนศ: เล่มนี้จะบอกว่าวรรณกรรมเยาวชนก็ได้เนาะ แต่ซีไรต์ไม่ได้ตัดสินที่เล่มนี้ในฐานะวรรณกรรมเยาวชน ซีไรต์ให้ด้วย message ของมัน มันแรงและมันสำคัญกับสังคมในยุคนั้น จนมาถึง 20 ปี ในยุคนี้ก็ยังสำคัญอยู่

เบื้องหลังปกที่ใช้มายาวนานจนถึงพิมพ์ครั้งที่ 100

คุณเอ๋: เราไม่อยากให้เห็นหน้ากะทิ เพราะว่าเราอยากให้คนอ่านนึกภาพของกะทิด้วยตัวเองว่าหน้าตาเขาเป็นยังไง เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็จะเห็นข้างหลัง เห็นข้างๆ หรือว่าเห็นในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ก็สีน้ำก็ไม่ชัดเจนด้วย เล่มแรกๆ จะเห็นว่าให้จางๆ หน่อย ให้คนได้คิดได้จินตนาการด้วยตัวเอง แล้วหลังจากนั้นภาพของ ต้องการ (ผู้วาดภาพปกความสุขของกะทิ) ก็เลยกลายเป็นภาพจำ

เล่มนี้พอพิมพ์ซักพักหลังจากได้ซีไรต์แล้วคิดว่าจะเปลี่ยนปก แต่ว่าทางฝ่ายขายไม่ยอมให้เปลี่ยนเพราะจำได้แล้ว ถ้าเดินเข้าร้านหนังสือก็เห็นแล้ว ไม่ต้องมองหา

หลายเสียงเรียกร้องให้เขียนภาคต่อ

คุณเจน: จริงๆ ตอนที่จะเขียนเล่มสอง ไม่ได้อยู่ในหัวตอนเขียนเล่มแรก อันนี้สารภาพ แต่คนที่มานั่งสะกิดเนี่ยก็คือ “คุณโหน่ง วงศ์ทนง” ที่เขียน a day คุณโหน่งพูดขึ้นมาว่า “พี่เขียนจบแค่นี้หรอ” “พี่ทำอย่างนี้กับผมได้ไง ตั้งเยอะตั้งแยะยังไม่เล่า”

ตอนที่ไปเซ็นงานสัปดาห์หนังสือ ก็จะมีคนมาคุยด้วยเวลาเราเซ็น มีคุณลุงคนหนึ่งหน้าตาจริงจังมาก มายืนบอกว่า “นี่ได้ข่าวคล้ายๆ ว่าไม่เขียนต่อแล้วหรอ” “อ้าวนี่ยังไม่รู้จักพ่อเขาเลยนะ ต้องเขียนสิ” อธิบายให้เราฟังว่าเหตุผลที่ควรจะเขียนคืออะไร แล้วเราก็ต้องมาสะกิดคุณเอ๋ว่า พี่คงต้องเขียนจริงแล้วแหละ คุณเอ๋ก็บอกว่าเล่มเดียวไม่ได้แล้วพี่ต้องไตรภาค

คุณเอ๋: จดหมายเขาเยอะค่ะช่วงนั้น

คุณเจน-งามพรรณ เวชชาชีวะ

ความสุขของกะทิ เล่มที่สนุกที่สุด

คุณเจน: แนะนำเลยว่า “เธอคือของขวัญ” เป็นเล่มที่สนุกที่สุดในที่เขียนมาทั้งหมด เพราะว่าเล่มที่สี่เนี่ย จะรังแกคนอ่านเยอะ ก็เพราะว่าแต่ละบทจะไปแทรกอยู่ในแต่ละเล่ม บทที่ 1 จะไปแทรกอยู่ในเหตุการณ์เล่มแรก บทที่ 2 ก็จะไปแทรกในเหตุการณ์เล่มที่สอง เพราะฉะนั้นถ้าคุณยังไม่ได้อ่านเล่ม 1-3 มา คุณอ่านเล่มนี้คุณจะคันมากว่าเอ๊ะ คนเขียนไม่ช่วยเลยว่าเหตุนี้เกิดจากอะไร แต่เราแทรกเข้าไปตรงกลางระหว่างสามเล่มนี้ให้มันเป็นเรื่องขึ้นมา

การเดินทางของความสุข สู่กะทิในต่างแดน

คุณเจน: เป็นการเดินทางอันยาวไกล เมื่อมันมาถึงจุด 20 ปี มันก็ชัดเจนว่าเรื่องที่เราเล่าเนี่ย มันผ่านกระบวนการคิดของตัวเอง คนเขียน แล้วก็ผ่านกระบวนการเคลื่อนไปข้างหน้าของสังคมนะ กะทิก็เดินทางผ่านเวลามาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดนี้ได้ มันก็เป็นบันทึกทางสังคมในส่วนหนึ่งด้วย บันทึกอารมณ์ด้วยส่วนหนึ่ง

คุณเอ๋: ด้วยความที่มันเล่นด้วยประเด็นสำคัญที่เป็นประเด็นสากล คือเรื่องของการสูญเสีย ไม่ว่าใครจะอ่าน มันก็เข้าถึงข้างในใจของเขา โดยเฉพาะวิธีการนำเสนอ จะเห็นว่าตลอดเวลามันยังคงอยู่ในกระแสแล้วก็ยังขายได้อยู่ตลอด พี่คิดว่าในอนาคตก็น่าจะยังคงมีคนอ่านอยู่ จริงๆ ตอนนี้น่าจะเป็นหนังสือไทยที่ขายได้ 700,000 เล่ม ในระยะเวลาแค่ 20 ปี

คุณธเนศ: วันนี้มารับรู้ว่า โห แปล 11 ภาษา มันเป็นปรากฏหนึ่ง นอกจากปรากฏการณ์ในไทยแล้ว มันไปสู่สากลด้วย ก็เป็นที่น่ายินดีมากๆ แล้วก็อยากให้วรรณกรรมไทยมันไปสู่สากลแบบเนี้ย

เล่มนี้นอกจากเป็นหนังสือนอกเวลาสำหรับเด็กไทยแล้ว ไปสู่สากลด้วยแล้ว ก็คิดว่าเป็นประจักษ์พยานอันหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้ว่าหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้มีคุณค่าต่อสังคมไทย มันเป็นพลังอะไรบางอย่างของคนไทยที่สื่อไปถึงต่างชาติด้วย

ติดตามคลิปวิดีโอกิจกรรม Book Talk “ก้าวเล็กๆ ของเด็กหญิงกะทิ สู่โลกกว้างแห่งวรรณกรรม”
จากแพรวสำนักพิมพ์ เร็วๆ นี้


Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close