Book Club : ความเศร้าที่สว่างไสว อ่านและเติบโตไปกับ ความสุขของกะทิ

แบ่งปันมุมมองและความรู้สึกหลังอ่านกับ “ความสุขของกะทิ” และการเดินทางตลอด 20 ปี วรรณกรรมเล่มนี้ทิ้งความงดงามไว้ตลอดเส้นทาง

กิจกรรม The Journey of Kati’s Happiness 20 ปี การเดินทางของความสุขไม่รู้จบ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเชิญชวนนักอ่านร่วมย้อนวันวานและเดินทางเข้าไปในความทรงจำของความสุข และการเติบโต ตลอด 20 ปี  จัดขึ้นเมื่อวันที่  20 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานริมน้ำ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

หนึ่งในกิจกรรมที่ทางสำนักพิมพ์จะหยิบขึ้นมาแชร์ให้ทุกคนอ่านคือกิจกรรม Book Club “ความเศร้าที่สว่างไสว อ่านและเติบโตไปกับความสุขของกะทิ” เป็นกิจกรรมที่ชวนนักอ่านมาล้อมวงพูดคุยกันอย่างอบอุ่นและร่วมแบ่งปันแง่มุมหลังอ่าน การได้ย้อนคิดถึงวันวานที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนเป็นการย้อนทวนความทรงจำในวัยเด็กของเราทุกคน เหมือนกับว่า “เรานั้นเติบโตมาพร้อมกับกะทิ”

พิเศษไปมากกว่านั้น กิจกรรมในครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากคุณเจน-งามพรรณ เวชชาชีวะ  ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ที่มาร่วมแบ่งปัน Inside Story ของหนังสือเล่มนี้ที่จะทำให้การอ่านลึกซึ่งยิ่งขึ้น และบทความนี้สำนักพิมพ์อยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาเรียนรู้ความสุข ความทุกข์ และเติบโตบนโลกที่คาดเดาไม่ได้ด้วยความเข้าใจไปด้วยกัน

เริ่มต้นอ่าน “ ความสุขของกะทิ ” ตอนไหนและรู้สึกอย่างไรบ้าง

นักอ่าน : เริ่มต้นอ่านตั้งแต่สมัยเรียนซึ่งมันนานมากเลยจำไม่ได้ว่าความรู้สึก ณ ตอนนั้น รายละเอียดเราเก็บได้ขนาดไหน แต่เรารู้แค่ว่า เล่มนี้เป็นหนังสือที่มี Story น่ารักและอบอุ่นและเด็กหญิงกะทิที่น่ารักอยู่ในเรื่อง แต่นอกจากนั้นเราจำอะไรไม่ได้เลย พอกลับมาอ่านตอนที่โตแล้วเรารู้สึกว่าเด็กคนนี้เก่ง ด้วยตัวเขาเองก็เก่งด้วยและประโยคตอนท้ายที่บอกว่า “ต้นทุนของชีวิตที่ไม่ได้แปลว่าเงิน ต้นทุนที่เรามีคนรอบข้างที่ดี ” ทุกคนมีส่วนที่ทำให้กะทิคือกะทิ

นักอ่าน : อ่านครั้งแรกตอนสมัยเรียน อาจารย์บอกให้อ่านหนังสืออะไรก็ได้ที่เป็นซีไรต์ เราเลยเลือกเล่มที่เล็กที่สุด เลยหยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน พออ่านจบแล้วก็ต้องเขียนความรู้สึกและสรุปเรื่องให้กับอาจารย์ ตอนแรกที่เราอ่านรู้สึกว่ามันอ่านง่ายและสบายมากเลย แต่สุดท้ายตลอดเวลาที่อ่านก็เต็มไปด้วยความรู้สึกและอารมณ์ร่วมของเด็กหญิงคนหนึ่งตั้งแต่อยู่บ้านริมคลอง ค่อย ๆ หาความจริงว่าแม่เขาไปไหนหรือสุดท้ายแล้วเขาตัดสินใจอย่างไร  เราเลยรู้สึกว่าแท้จริงแล้ว หนังสือเล่มนี้ ใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยอารมณ์


ตอนนั้นเดาไว้บ้างไหมว่าแม่ของกะทิไปไหน หรือเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวนี้

นักอ่าน : ตอนนั้นคิดว่า “เรื่องราวนี้ต้องไม่ธรรมดา” ผู้เขียนคงเก็บงำอะไรบางอย่างไว้ และคิดอยู่แล้วว่าเดี๋ยวจะมีเหตุการณ์อะไรซ่อนอยู่แน่ ๆ

นักอ่าน : เพราะคนเขียนเป็นศิลปินทำให้เรื่องที่เปิดเผยขึ้นมาเรื่อย ๆ มันมีจังหวะของมันเอง ว่าเมื่อไหร่มันควรเปิดเผย คนถึงจะตื่นเต้นและติดตาม 

คุณเจนยังบอกอีกด้วยว่า “อย่างที่บอกว่าเราอยากให้หนังสือเล่มนี้มัน วางไม่ลง เราก็เลยต้องล่อคนไปเรื่อย ๆ แต่คนเขียนยังนึกไม่ค่อยออกเท่าไหร่ว่าจะให้แม่ไปไหน ตอนที่ตัดสินใจให้มาเจอกัน คิดเยอะเหมือนกันว่าพอหรือแล้วยัง พอไปถึงบทที่ 9 เราก็เลยให้คุณยายบอกเลยว่าจะได้พบกับคุณแม่”

คิดอย่างไรกับการตัดสินใจของแม่กระทิ

นักอ่าน : คิดว่าเข้าใจแม่ที่เลือกวิธีนั้น และเชื่อว่าแม่ต้องทำอะไรอย่างรอบคอบแล้ว มีทั้งจดหมาย เพราะรู้แล้วว่าอีกหน่อยกะทิต้องมาที่บ้านกลางเมือง กะทิต้องมาอยู่กับคุณยายคุณตาและรู้ว่ากะทิจะมาหาตัวเองที่บ้านริมทะเลในวาระสุดท้าย

คิดว่าแม่ของกะทิคิดอย่างรอบคอบและคิดได้ดีที่สุดเท่าที่จะคิดได้ในตอนนั้น

นักอ่าน : “ตอนที่แม่ทำเรือหลุดจากมือตอนพายุเข้าโหม คนทั่วไปคนอธิษฐานเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก แต่ชีวิตของแม่ คงแลกอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ในเมื่อแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว ฟ้าผ่าเปรี้ยงเหมือนรับรู้ เมื่อแม่อธิษฐานว่าถ้าลูกปลอดภัย แม่จะไม่แตะต้องตัวลูกอีกเลย แม่จะไปให้ไกลจากลูก ไม่ทำให้ลูกต้องตกอยู่ในอันตรายอีกแล้ว” คำตอบตรงนี้ชัดเจนมาก คุณแม่ท่านนี้เป็นคนเด็ดเดี่ยวมาก


เมื่อความจริงถูกเปิดเผย ในฐานะเด็ก 8 ขวบกับการรับมือของกะทิ มองว่าอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นเราจะรับมืออย่างไร

นักอ่าน : จำได้ว่าบทนี้เศร้ามาก แต่จำดีเทลไม่ได้ว่าเศร้าจากอะไร และได้กลับมาอ่านตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราจำได้ว่าพอเขารู้ความจริงแล้วเขาวิ่งไปที่ชายหาด วิ่ง วิ่ง วิ่งแบบที่ไม่รู้ว่าจะไปไหน จนล้มลงแล้วก็ร้องไห้ เราเลยรู้ว่าที่เศร้าเพราะมันทำอะไรไม่ได้ เหตุการณ์ทุกอย่างมันเกิดขึ้นแล้ว 

ถ้าเราเป็นกะทิตอนนั้นเราก็คงทำเหมือนเขา

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ : รู้สึกว่าการรีแอคของกะทิในฉากนั้นมันค่อนข้างที่จะสมจริงและสะเทือนอารมณ์ เหมือนกับการที่กะทิวิ่งแข่ง และวิ่งไปเรื่อยๆ จนหยุดแล้วก็ร้องไห้ ชอบฉากนี้มาก ตัวเราอาจจะไม่ได้ออกไปทำอย่างนั้น แต่ในแง่ของการเขียนอธิบายอารมณ์ สื่อสิ่งนี้ออกมาได้ดี ทำให้เรารู้สึกไปกับตัวละคร

เราตั้งใจให้เห็นว่าขณะที่เด็กคนนี้…
วิ่งเคลื่อนไหวบังคับกล้ามเนื้อร่างกายได้
แต่ “แม่ทำไม่ได้เลย”

ผู้แต่ง

หากคุณเป็นกะทิ จะเลือกให้แม่อยู่กับเรา หรือไม่อยู่มากกว่ากัน

นักอ่าน : ในพาร์ทของเราเอง ถ้าเลือกได้ เราอาจจะเลือกที่จะไม่อยู่ก็จะดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่รู้สึกว่าการสูญเสียมันคือสิ่งที่เสียใจมากที่สุด ‘การที่ไม่มีอาจจะดีเสียกว่า”

นักอ่าน : ถ้าย้อนไปในวัย 8 ขวบ บอกไปก็ไม่เข้าใจ เพราะนึกถึงเหตุการณ์ของตัวเองก็มีจุดหนักในชีวิตเกิดตอน 8 ขวบ ตอนนั้นที่บ้านก็ไม่บอกความจริงค่ะ เหตุผลอะไรก็ไม่รู้ แต่ต่อให้คุณมาพูดเหตุผลจริง ๆ เด็ก 8 ขวบก็อาจจะรู้สึกว่า เสียใจจัง แต่ Move On เจ็บแหละแต่วันหนึ่งที่หันไปเห็นพี่ทอง หันไปเห็นตา เห็นยาย เขาอาจจะก้าวข้ามได้ง่ายกว่า

นักอ่าน : ณ เวลานั้น ด้วยวุฒิภาวะของเราเองคงจะไม่เข้าใจอะไร แต่แน่นอนเราอยากอยู่กับพ่อกับแม่ เราเห็นคนอื่นมีพ่อมีแม่กันใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ในมุมมองของเราคงอยากจะอยู่กับพ่อแม่มากกว่า

“ดวงจันทร์เหลือเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ อยู่กลางฟ้า
เงาต้นสนริมรั้ว ลู่เอนตามแรงลมน้อย ๆ นาทีเหมือนหยุดนิ่ง…
จนกว่าดวงตะวันจะขึ้นอีกครั้งอย่างสดชื่น สวยงาม พ้นจากขอบฟ้าเหนือทะเล
ปลุกทุกสรรพชีวิตบนโลกให้ตื่นขึ้น แต่ไม่มีแม่รวมอยู่ด้วยอีกต่อไป

ความรู้สึกหลังอ่านจบ

นักอ่าน : ตอนนี้ภาพในหัวจะเป็นปกแข็งมากกว่า เป็นหนังสือเล่มที่ทำให้เรามองเห็นกะทิตั้งแต่เล็ก ๆ จนโต ตอนแรกจะบอกพี่เจนว่า เราน่าจะมีภาคอื่น ๆ อีกหรือเปล่านะ ก็เปลี่ยนใจว่ากะทิจบแล้ว สมบูรณ์แบบแล้ว

นักอ่าน : พออ่านจบประโยคเดียวเลยคือ “ขอบคุณที่เติบโตมาอย่างดี”  ถ้านึกย้อนไปในวันที่เราอยู่เล่ม 1 เราอายุเท่ากะทิ เราจะได้อย่างนั้นไหมหรือว่าวิธีการตัดสินใจหรือว่าการ Move On จากจุด ๆ หนึ่งมาจะได้ขนาดนั้นไหม

นักอ่าน : ในโมเมนต์นั้นคนอ่านจะสนุกมากเลย เช่น ไม่ส่งจดหมายถึงพ่อ แต่มันก็เกิดผลร้ายคือ “พ่อถูกเข้าใจผิด” ปู่ย่าตายาย ใคร ๆ ก็ตาม เกลียดพ่อว่าลูกส่งจดหมายแล้วไม่ตอบกลับมา เพราะฉะนั้น แอคชันกับรีแอคชันมันมีผลต่อกันเสมอนะคะ แล้วเรื่องนี้มันมีแบบนี้ตลอดเวลาเลย การกระทำหนึ่งทำให้เกิดการเข้าใจผิดในอีกสิ่งหนึ่ง ในแง่เขียนนิยายอันนี้ Perfect และทำให้สนุก แต่ในแง่ชีวิตจริงเรา “Just be honest” กับชีวิตเราดีกว่า ตรงไปตรงมา มันจะได้ไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด 

นักอ่าน : ตอนที่อ่านจบก็ยังค้างอยู่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป เขาจะโตมาแบบไหน คนรอบข้างเขาจะเป็นอย่างไร เขาจะเจอแรงกระทบอะไรอีกไหมในชีวิต ก็พอมาจนถึงเล่มปกแข็ง ก็ต้องขอบคุณผู้เขียนที่เติมเต็มความรู้สึกในใจ

ในเมื่อกะทิทำความดีมาตลอด เลือกสิ่งที่ดีมาตลอด เขาควรได้สิ่งดี ๆ ตอบแทนบ้าง เพราะฉะนั้นการที่คุณเจนให้ของขวัญกับเขาตอนจบ ขอบคุณแทนกะทินะคะ

-นักอ่านความสุขของกะทิ

ความสุขของกะทิ ฉบับครบรอบ 20 ปี (ปกแข็ง)

ผู้แต่ง งามพรรณ เวชชาชีวะ

รวมการเดินทางของกะทิทั้ง 4 ภาค

  • ความสุขของกะทิ
  • ในโลกใบเล็ก
  • ตามหาพระจันทร์
  • เธอคือของขวัญ

บทความแนะนำ

“ความสุขของกะทิ” การเดินทางไม่รู้จบของเด็กหญิงผู้มองโลกในแง่บวก กับ คุณเจน-งามพรรณ เวชชาชีวะ

Exclusive Interview คาวางุจิ ผู้เขียน เพียงชั่วเวลากาแฟยังอุ่น เรื่องราวของกาแฟอุ่นหนึ่งแก้วและเก้าอี้ไม้หนึ่งตัว

Exclusive Interview คิมโฮย็อน ‘ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ไม่สะดวกสบายมาแต่ไหนแต่ไร ขอให้ขอบคุณและโอบกอดมันไว้อย่างยินดี’

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close