อย่าด่วนเชื่อเรื่องใด ๆ ถ้ายังไม่ Rethink คิดหลายชั้น !

เรามักเคยได้ยินคำแนะนำหรือคำกล่าวจากหนังสือพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นวาทะหรือเทคนิคสูตรสำเร็จที่แนะนำว่า “ควรทำ” หรือ “ไม่ควรทำ” สิ่งใด แน่นอนว่าคำแนะนำเหล่านั้นมีเจตนาที่ดี แต่หลายคนก็นำไปใช้แบบคัดลอกทั้งหมดโดยไม่พิจารณาเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมของตัวเอง หรืออาจตีความผิดจนเกิดเรื่องร้ายแรงต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้น อย่าด่วนเชื่อเรื่องใด ๆ ถ้ายังไม่ Rethink คิดหลายชั้น ! แล้วทุกความพยายามของคุณจะพบความสำเร็จอยู่ปลายทาง

Rethink ชีวิตและความสัมพันธ์

อย่าด่วนเชื่อเรื่องใด ๆ ถ้ายังไม่ Rethink คิดหลายชั้น ! เพราะปัจจุบันผู้คนใช้ชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันบนโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ชีวิตและความสัมพันธ์ของหลายคนรู้สึกแย่ เพราะผู้คนที่ใช้โซเชียลมีเดียต่างเลือกเฉพาะเรื่องราวดี ๆ มาเผยแพร่มากกว่าเรื่องราวไม่ดี จนแอบเผลอคิดว่าคนอื่นมีแต่ชีวิตดี ๆ จนแทบไม่ค่อยเห็นด้านไม่ดีของเขา และเริ่มเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองจนรู้สึกแย่หรือมองว่าเรากลายเป็นคนส่วนน้อยที่มีชีวิตไม่ค่อยดี

โซเชียลมีเดียยังทำให้รู้สึกยึดติดกับความคิดตัวเองง่ายมาก เพราะถ้าเชื่อเรื่องใดแล้วก็มักติดตามข้อความที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ทำให้ระบบการทำงานของโซเชียลมีเดียอย่างอัลกอริทึมจดจำว่าเราชอบเรื่องนี้ ส่งผลให้มันแสดงแต่ข้อความของเรื่องทำนองเดียวกันนั้นให้เห็น และยิ่งทำให้เราเชื่อเรื่องนั้นมากขึ้น

เมื่อเชื่อเรื่องใดมาก ๆ เรามักปิดกั้นความเห็นแตกต่าง และมองคนที่เห็นต่างจากเราว่าเป็นคนส่วนน้อย ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพียงแต่เราไม่ค่อยเห็นข้อความที่ตรงข้ามกับความเชื่อของตัวเอง ยิ่งมองไม่เห็นความเห็นที่แตกต่างก็ยิ่งไม่ยอมรับความเห็นนั้น จนอาจเกิดความขัดแย้งได้ง่ายและกลายเป็นความรู้สึกแย่จากการใช้โซเชียลมีเดีย แต่โซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้รู้สึกแย่เสมอ เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี

ข้อแนะนำแรกคือ ให้เปลี่ยนจากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นแล้วทำให้รู้สึกด้อย มาเป็นการรู้สึกยินดีกับคนอื่นเวลาที่เห็นความสำเร็จของพวกเขา แค่นี้ก็มีความสุขกับการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะการยินดีเฉพาะความสำเร็จของตัวเอง เราจะมีความสุขยาก เนื่องจากโอกาสที่จะสำเร็จทุกวันมีน้อย แต่ถ้าเรามีความสุขกับความสำเร็จของคนอื่นด้วย เราจะมีความสุขได้ทุกวัน

ยิ่งรู้เท่าทันอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียที่มักคัดเลือกสิ่งที่เราชอบมานำเสนอ เราก็เพียงเปิดใจให้กว้างว่าสิ่งที่กำลังอ่านบนโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องที่เรามักเห็นด้วย แต่โลกกว้างใหญ่กว่านี้ อย่าคิดว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับความเห็นของเราทั้งหมด ถ้าคิดได้แบบนี้ ต่อให้อ่านข่าวสารจากโซเชียลมีเดียมากเท่าไร ก็ไม่หลงทาง

โซเชียลมีเดียยังมีข้อดีในการเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เรากลับไปเจอเพื่อนเก่าสมัยเรียนหรือเคยทำงานด้วยกัน ถ้าเราใช้ถูกวิธีก็จะช่วยให้รักษาความสัมพันธ์ดี ๆ เหล่านั้นไว้ นอกจากนั้นการใช้โซเชียลมีเดียอาจช่วยทำให้เราพัฒนาตัวเองได้อีกด้วย เช่น เรามักจะเห็นข้อแนะนำดี ๆ ที่มีผู้เชี่ยวชาญเขียนผ่านเพจต่าง ๆ สิ่งเหล่านั้นถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ซึ่งใช้เวลาไม่มากในการอ่านและยังสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงกับชีวิตประจำวันของเราด้วย

Rethink การทำงาน

หลายคนคงเคยได้ยินว่าการจัดสมดุลระหว่างงานกับชีวิตหรือที่ Work – Life Balance ทำให้เราได้ทั้งงานและชีวิต การทำงานแบบหามรุ่งหามคํ่าโดยไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์หรือสุขภาพ หากทำต่อเนื่องเป็นเวลานานย่อมไม่ส่งผลดี ถึงแม้เราจะประสบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นจะมีคุณค่าได้อย่างไร ถ้าไม่มีใครคอยยินดีกับเราเลย ดังนั้น เราควรแบ่งเวลาให้ทั้งเรื่องงาน ความสัมพันธ์ สุขภาพ และเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญต่อชีวิต

ถ้าเช่นนั้นคำว่า Work – Life Balance ก็น่าจะทำให้เราได้ทั้งงานและชีวิต มองเผิน ๆ อาจใช่ แต่คำว่า “สมดุล” ไม่ได้แปลว่าต้องเท่ากันตลอดเวลา หลายคนเข้าใจว่า Work – Life Balance แปลว่า ทำงาน 8 ชั่วโมง และมีเวลาให้กับครอบครัวและออกกำลังกาย 8 ชั่วโมงทุกวัน แต่ความจริงไม่ใช่ บางช่วงงานหนักก็อาจต้องใช้เวลาช่วงนั้นกับงาน และมีเวลาให้ครอบครัวและสุขภาพน้อยลง ในทางกลับกัน บางช่วงที่ครอบครัวต้องการเรา หรือเราเริ่มอ่อนล้า ก็ต้องให้เวลากับครอบครัวและตัวเองมากหน่อยรวมถึงลดงานบ้าง

คำว่า Balance จึงไม่ใช่การทำกิจกรรมทุกอย่างโดยใช้เวลาเท่ากันทุกวัน แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับจังหวะชีวิต โดยไม่ผัดวันประกันพรุ่งจนไม่ได้ทำอะไรเลย และควรระวังงานที่เข้ามายึดพื้นที่ส่วนตัวของเรา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะโดนงานเข้ามาครอบครองวันหยุด มากกว่าโดนความสัมพันธ์หรือสุขภาพมาครอบครองวันทำงาน

ลองหาจังหวะชีวิตของตัวเองให้เจอ แล้วทำงานไปพร้อมกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนที่รัก และดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่ต้องเท่ากันตลอดเวลา แต่ต้องปรับให้ถูกกับแต่ละช่วงเวลา แค่นี้คนทำงานก็มี Work – Life Balance แล้ว

Rethink การเงิน

“อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” หมายความว่า อย่าลงทุนในหุ้นตัวเดียว ให้กระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง จริง ๆ คำกล่าวนี้มีประโยชน์ แต่ถ้าตะกร้าใบนั้นตกจะทำให้ไข่ที่มีใบเดียวแตกทันที เหมือนกับการลงทุนในหุ้นเพียงตัวเดียว ถ้าบริษัทนั้นปิดตัว สินทรัพย์ทั้งหมดที่เรามีก็จะหายหมดทันที ดังนั้นการกระจายลงทุนในหลายบริษัท หรือสินทรัพย์หลายประเภทน่าจะมีความปลอดภัยกว่า

ความเสี่ยงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราลงทุนในหลายบริษัทหรือไม่อย่างเดียว แต่ต้องดูว่าเรารู้จักและเข้าใจธุรกิจของแต่ละบริษัทที่ลงทุนด้วยหรือไม่ เพราะแม้จะลงทุนใน 10 บริษัท แต่ถ้าไม่เข้าใจเลยว่าแต่ละบริษัททำธุรกิจอะไร มีความเสี่ยงอย่างไร การลงทุนแบบนี้อาจเสี่ยงกว่าลงทุนในบริษัทเดียวที่เรารู้จักทุกแง่มุม

อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือ “ผลตอบแทน” การลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ไม่กี่ประเภทแม้จะดูเสี่ยง แต่อย่าลืมว่าถ้าได้กำไรก็มีโอกาสได้เงินเป็นกอบเป็นกำมากกว่าการลงทุนแบบกระจาย ลักษณะของสินทรัพย์ที่นำมาลงทุนก็มีผล ถ้าเป็นเงินเย็นซึ่งเป็นเงินที่ถึงจะเสียไปก็ไม่ได้เดือดร้อนนัก จะใช้รูปแบบการลงทุนที่เสี่ยงหน่อยก็ทำได้ ใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียวก็ยังไหว เพราะถึงไข่ตกแตก ก็ยังมีเงินไปซื้อไข่ใบใหม่ แต่ถ้ามันเป็นเงินที่เสียไม่ได้เลย การกระจายการลงทุนไปให้หลากหลายก็อาจดูจะปลอดภัยกว่า

แต่ไม่ว่าจะใส่ไข่ในตะกร้ากี่ใบก็ตาม ควรเตือนตัวเองว่าเราต้องประคับประคองตะกร้าเหล่านั้นได้ ถ้าเปรียบกับการลงทุนไม่ว่าจะลงทุนน้อยตัวหรือหลายตัว แต่อย่างน้อยเราต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนั้นให้ดีพอ ถ้าทำเช่นนั้นแล้ว จะใส่ไข่ในตะกร้ากี่ใบก็เอาตามใจชอบได้เลย

บทความโดย Shortcut

___________________________

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close