Exclusive Interview [คิมรันโด] ทศวรรษที่เปลี่ยนผ่าน กับความเจ็บปวดของหนุ่มสาวที่ไม่เคยเลือนหาย

ผ่านมา 10 ปี วัยรุ่นยุคนี้จะค้นหาฤดูที่ผลิบานอย่างไร

คิมรันโด ผู้เขียน เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด มาพบปะนักอ่านชาวไทยในกิจกรรม Talk ‘เราต่างมีฤดูกาลที่ผลิบานเป็นของตัวเอง’ ณ House Samyan ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

ภาพจากกิจกรรม [คิมรันโด] Talk ‘เราต่างมีฤดูกาลที่ผลิบานเป็นของตัวเอง’ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566

ในโอกาสดีๆ แบบนี้ ทาง Springbooks มีบทสัมภาษณ์พิเศษ คิมรันโด มาฝากวัยรุ่น (และวัยเคยรุ่น) ทั้งหลาย ชวนพูดคุยถึงประเด็นความเจ็บปวดและความท้าทายที่หนุ่มสาวในยุคนี้ต้องเผชิญ ผ่านมุมมองของหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ที่คิมรันโดบรรจงเขียนถึงลูกชายไว้ตั้งแต่ปี 2553 ยังคงครองใจผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง แม้เล่มนี้จะวางขายเป็นปีที่ 10 แล้วก็ตาม ความเจ็บปวดของวัยรุ่นตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป สิ่งไหนยังคงฝังรากลึกอยู่ เราจะพามาหาคำตอบกับ อาจารย์และที่ปรึกษาวัยรุ่นแห่งเกาหลีใต้ ผู้นี้กัน

สวัสดีครับ ผมชื่อ คิมรันโดนะครับ มาจาก โซล ประเทศเกาหลี ผู้เขียนหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด และหนังสืออีกหลายเล่มในซีรีส์ มี พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ในเวลาที่หม่นเศร้า ชีวิตก็ยังเป็นของเรา จงหางานที่มีแต่คุณเท่านั้นที่ทำได้ แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้ วันนี้มีโอกาสได้มาสัมภาษณ์ที่ไทย รู้สึกดีใจมากๆ และรู้สึกเป็นเกียรติมาก ที่ชาวไทยเชิญผมมาและดูแลดีขนาดนี้

  • หนังสือเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ตีพิมพ์มา 10 ปี แล้ว ในความคิดของอาจารย์ ความเจ็บปวดหรือความกดดันต่างๆ ที่วัยรุ่นในตอนนั้นต้องเผชิญ ยังคงเป็นเหมือนเดิมไหม หรือมีอะไรที่ต่างไปจากเดิม

ผมคิดว่าปัญหาหรือความเจ็บปวดที่วัยรุ่นได้เจอในปัจจุบันนี้ มันแย่ลงกว่า 10 ปีก่อนด้วยซ้ำ มีเหตุผลทั้งหมด 2 ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ ด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่เกาหลี หรือแม้แต่ที่ไทยก็อาจจะคล้ายกัน รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกที่อเมริกาด้วย คือเศรษฐกิจมันมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้าลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการหางานของเยาวชน แทนที่จะหางานได้ง่ายเหมือนสิบปีก่อน ตอนนี้อัตราที่ช้าลง การหางานก็เลยยากขึ้น

ปัญหาที่สอง คือเรื่องการเกิดขึ้นของ โซเชียลมีเดีย เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พยายามเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างตลอดเวลา ก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดียเข้ามา เราก็มักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่เรียนในห้อง หรือคนในสังคม แต่ตอนนี้พอเราได้เห็นชีวิตของคนอื่นๆ มากขึ้นผ่านทางโซเชียล อาจจะทำให้เรารู้สึกว่า คนคนนี้อายุเท่ากับฉันเลย ทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จแล้ว ทำไมฉันยังไปได้ไม่เท่าเขา เลยส่งผลกระทบให้เกิดปัญหา ความไม่มั่นใจในตนเอง ทำให้ความมั่นใจในตนเองของเยาวชนสมัยนี้น้อยลง จริงๆ แล้วคำพูดที่ผู้ใหญ่หลายๆ คน มักจะพูดกับเยาวชน ก็คือ ในสมัยนี้โลกพัฒนาและก้าวไกลไปได้ตั้งเยอะแล้ว แต่ทำไมเธอยังมีความคิดแบบนี้อยู่อีก ทำไมเธอถึงไม่มีความคิดที่ดีกว่านี้ หรือทำตัวให้ดีกว่านี้ แต่สำหรับผม ผมคิดว่า ถ้าเกิดว่าเรามองไปที่ปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม มันค่อนข้างกดดันและมีสิ่งที่ทำให้เยาวชนเจ็บปวดได้มากกว่าเมื่อก่อน

  • ทักษะในการใช้ชีวิตแบบไหน ที่จำเป็นต่อเยาวชนในยุคนี้

สมัยก่อน ด้วยความที่ค่านิยมของอาชีพ หรือสังคมมันถูกกำหนดเอาไว้ตายตัวอยู่แล้ว ดังนั้นก็เลยทำให้คนที่ทำอาชีพที่คนทั่วไปยอมรับว่าเก่ง นับว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ในปัจจุบันนี้ สภาพของสังคมที่เปลี่ยนไป แทนที่เราจะเลือกทำงานที่มีคนทำเยอะๆ หรือว่าสังคมยอมรับ แล้วก็เป็นแค่ระดับปานกลางของสังคมนั้น ขอให้เราลองเปลี่ยนไป ลองคิดว่าถ้าเกิดเราลองเลือกทำงานอย่างอื่น แต่เป็นงานที่เราถนัดและเราได้เป็นอันดับหนึ่ง เป็นคนที่มีความสามารถในสาขานั้นๆ น่าจะเหมาะสมกับสังคมสมัยนี้มากกว่า ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นแนวคิดของคนปัจจุบันที่ควรจะทำตาม คือไม่ใช่ไปทำอาชีพที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าดี หรือคนส่วนใหญ่เชียร์ว่าทำแบบนี้จะประสบความสำเร็จ แต่ให้ลองดูว่า เราถนัดอะไร เราเก่งเรื่องไหน แล้วให้เราลองมุ่งไปทำสิ่งที่เป็นอาชีพในด้านนั้นน่าจะดีกว่า

ในปัจจุบันมีการเข้ามาของ AI (Artificial Intelligence) ที่มาช่วยในเรื่องของอาชีพ เพราะฉะนั้นมันเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่ทำให้ตลาดของอาชีพเปลี่ยนไป ในอนาคต เยาวชนสมัยนี้ที่อีก 5 ปี 10 ปี ต้องมาใช้ชีวิตในสังคมใหญ่ ทำให้การทำอาชีพ หรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นมันจะยิ่งหนักหนาสาหัสมากกว่าเดิมอีก ดังนั้นกลับมาที่คำถาม เยาวชนควรมีทักษะอะไร ทักษะที่สำคัญที่สุด ก็คือ ความสามารถในการกลับมาย้อนดูตัวเอง หรือพิจารณาตัวเองว่าเราเก่งอะไร เราเหมาะกับอะไร เรามีความสามารถแบบไหน

  • ถ้าให้เขียนเนื้อหาเพิ่มหนึ่งบท ในหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ที่เข้ากับสถานการณ์ในตอนนี้ อาจารย์อยากเขียนเกี่ยวกับอะไร

สำหรับหนังสือเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ผมคิดว่ามันไม่มีประเด็นไหนเลยที่ไม่สามารถนำมาปรับใช้กับสังคมในปัจจุบัน แต่ว่าถ้าอยากจะให้เพิ่มประเด็นอะไรเข้าไปในเล่มนี้ หากเทียบกับสังคมปัจจุบันที่มีการเข้ามาของเทคโนโลยีมากมาย หรือการเข้ามาของ AI ผมอยากจะเพิ่มสิ่งนี้ ‘จงหางานที่ดิจิทัลทำแทนเราไม่ได้’

ในสมัยก่อน การปรับเปลี่ยนของยุคอนาล็อกมาเป็นยุคดิจิทัล อาชีพหรือว่าเรื่องการก้าวหน้า มันมักจะขึ้นอยู่กับว่า ใครมีความสามารถในการใช้ดิจิทัลนั้นได้ดีที่สุด นั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า Digital Literacy แต่ในปัจจุบันนี้สภาพสังคมได้เปลี่ยนไปในยุคที่สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือว่าสิ่งที่เป็นดิจิทัล ใครก็ตามก็สามารถเอามาใช้ได้หมดแล้ว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนก็คือเวลาเราจะทำอาชีพ เราต้องคิดว่า งานอะไรที่เหมาะกับเรา หรือเป็นเราเท่านั้นที่ทำได้ แล้วก็จะต้องมีความคิดที่เป็นแนวอนาล็อกหน่อยๆ เป็นตัวของตัวเองหน่อยๆ เป็นสิ่งที่มนุษย์จะสามารถทำได้ ถ้าให้เพิ่มประเด็นนึงเข้าไปในหนังสือเล่มนี้ ผมจะเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Analog Literacy นี่แหละ

  • อยากให้ฝากถึงวัยรุ่นไทยที่ตอนนี้กำลังเผชิญกับความเจ็บปวด

ความเจ็บปวดจริงๆ แล้ว มันเป็นสิ่งที่เกิดมาจากความพยายามหรือแพชชัน (Passion) ของเรานั่นแหละ เพราะถ้าเกิดว่าเราไม่มีแพชชันกับบางสิ่งบางอย่าง หรือว่าหลงใหลที่จะทำมัน มันจะไม่สามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่าความเจ็บปวดให้กับตัวเราได้เลย อย่างคำว่าแพชชัน ในภาษาอังกฤษมันมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน ที่เรียกว่า Passio ซึ่งคำนี้จริงๆ แล้วมันมีความหมายว่า ความเจ็บปวด มันก็เลยหมายความว่า ความเจ็บปวดจะตามมาเสมอเมื่อเรามีแพชชันกับอะไรบางอย่าง

อย่างวัยรุ่นไทยในตอนนี้ที่กำลังเผชิญกับความเจ็บปวดหรือปัญหาต่างๆ ผมไม่อยากให้คุณคิดว่า มันเป็นเรื่องทรมาน อยากให้นำเอาความเจ็บปวดนั้นที่เกิดจากแพชชันหรือสิ่งของพวกเราทุกคนนั่นแหละ หรือว่าสิ่งที่เราหลงใหล เอามันมาเปลี่ยนให้เป็นการเจริญเติบโตจะดีกว่า เหมือนกับดอกบัวที่มันยังสวยงดงามเสมอ แม้ว่าน้ำที่อยู่ข้างใต้มันจะขุ่นก็ตาม อยากให้ทุกๆ คนมีดอกไม้แห่งความหวัง คล้ายกับดอกบัวที่สามารถผลิบานสวยงามได้ แม้จะอยู่ในน้ำที่ขุ่นก็ตาม

สุดท้ายก็อยากจะขอบคุณทุกคนมาก ที่มาร่วมพูดคุยกัน

คลิปวิดีโอสัมภาษณ์ Exclusive Interview

คลิปวิดีโอ [คิมรันโด] Talk เราต่างมีฤดูกาลที่ผลิบานเป็นของตัวเอง


บทความอื่นๆ

เพราะเป็นวัยรุ่น จึงเจ็บปวดจาก Imposter Syndrome

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Like
Close
Copyright © 2022
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
Close